วันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2561

ผลกระทบของเงินดิจิทัล ตอนที่ 1 โดย นายณรัณ โพธิืพัฒนชัย


                    ตอนก่อนนี้ผู้เขียนได้นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตและกลไกการทำงานของเงินดิจิทัลหรือเงินคริปโตไปแล้ว  ในตอนนี้ ผู้เขียนจะได้กล่าวถึงผลกระทบของระบบการเงินดิจิทัลแง่มุมต่าง ๆ ที่ผู้วางนโยบาย นักกฎหมาย หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไปควรคำนึงถึง โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ
·       ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ
·       ผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนจากการประพฤติมิชอบ
·       ผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม
·       ข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และ
·       ความไม่แน่นอนของเทคโนโลยีที่ยังไม่นิ่ง  

                    เนื่องจากประเด็นที่ต้องพิจารณามีความละเอียดซับซ้อน ในตอนนี้ ผู้เขียนจะขอเสนอในสองประเด็นแรกก่อน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ผลกระทบของระบบการเงินดิจิทัลต่อระบบเศรษฐกิจการเงินในระดับมหภาคและจุลภาค  ดังต่อไปนี้

1. ผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ

                    ในมุมมองด้านกฎหมายและการเงิน (law and finance) ประเด็นที่สำคัญและต้องติดตามอย่างใกล้ชิดที่สุดคือ ผลกระทบของระบบเงินดิจิทัลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีต้นกำเนิดของเงินดิจิทัล จะเป็นระบบสารสนเทศแบบกระจายส่วน (P2P network) ก็ดี หรือเทคโนโลยีบล็อกเชน (blockchain) ก็ดี จะไม่ได้ส่งผลกระทบในแง่ลบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินเชิงระบบก็ตาม แต่การนำเทคโนโลยีไปใช้ในการ “เก็งกำไร” และ “การระดมทุน” ที่ “เกินความพอดี” จนทำให้มูลค่าพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างไร้ขอบเขต เป็นเหตุผลหลักที่ชวนให้คิดว่า เราควรต้องทบทวนความเหมาะสมของระบบการเงินดิจิทัลหรือไม่ เพราะเรายังไม่สามารถกำกับดูแลทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) เหล่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากระบบเงินดิจิทัลตั้งอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างการกระจายอำนาจจากรัฐไปสู่ประชาชน หรือจากผู้ดูแลระบบไปสู่สมาชิกในเครือข่าย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่เด่นชัดที่สุดประการหนึ่งของเงินดิจิทัล  ด้วยเหตุนี้เอง ราคาทรัพย์ดิจิทัลจึงมีความผันผวนสูงมาก ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทุกภาคส่วนควรติดตามอย่างใกล้ชิด

                    เราอาจจำแนกปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อความผันผวนของทรัพย์ดิจิทัลได้ 5 ประการ  

                    ประการแรกคือความไม่แน่นอนในการกำกับดูแล ผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศต่าง ๆ ยังคงถกเถียงกันอยู่อย่างกว้างขวาง โดยไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติว่า ในทางกฎหมาย เงินดิจิทัลควรอยู่ในประเภทหลักทรัพย์ (securities) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต. ในกรณีของประเทศไทย) หรือควรจะเป็นเงินสกุลใหม่ ซึ่งจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลาง (ธนาคารแห่งประเทศไทย) และคำว่าเงินดิจิทัลยังคงก่อให้เกิดความสับสน เนื่องจากทรัพย์ดิจิทัล (digital asset) สามารถแบ่งออกเป็นหลากหลายประเภทตามสิทธิ หน้าที่ และผลตอบแทนที่ผู้ถือครองจะได้รับ

                    ประการที่สอง ข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับการซื้อขายเงินดิจิทัล ในระยะหลัง หลายประเทศเริ่มมีข่าวว่าจะมีการออกกฎกำกับดูแลอย่างเข้มงวด หรือการที่องค์กรกำกับดูแลทั้งระดับประเทศและระหว่างประเทศออกคำเตือนเกี่ยวกับการซื้อขายเงินดิจิทัล ในบางประเทศมีแนวคิดถึงขั้นที่จะประกาศห้ามไม่ให้มีการซื้อขายเงินดิจิทัลอย่างเด็ดขาด หรือให้รัฐเข้ามาเป็นผู้จัดการระบบการเงินดิจิทัล (nationalisation) ข่าวต่าง ๆ เหล่านี้ เกี่ยวกับการกำกับดูแลหรือการแทรกแซงของรัฐก่อให้เกิดแรงต้านในหมู่นักลงทุน ส่งผลให้ราคาเงินดิจิทัลสกุลใหญ่ เช่น บิทคอยน์และอีเธอเรียม ตกลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา  

                    ประการที่สาม ความไม่มั่นใจใน “ราคาที่แท้จริง” ของเงินดิจิทัล (fundamental value) เพราะไม่มีรัฐสนับสนุนอยู่เบื้องหลังดังเช่นกรณีเงินกระดาษ (fiat money) จึงยังมีข้อห่วงกังวลกันอยู่มากว่า หากเกิดวิกฤติทางการเงิน ตลาดจะยังสามารถประคองราคาของเงินดิจิทัลไว้ในระดับปัจจุบันได้หรือไม่  

                    ประการที่สี่ การขาดสภาพคล่อง เนื่องจากจำนวนเหรียญของเงินดิจิทัลในตลาดมีจำนวนน้อย นักลงทุนรายใหญ่ที่ถือครองเงินดิจิทัลที่มีมูลค่ารวมสูงมากพอแม้เพียงรายเดียวก็สามารถก่อให้เกิดความโกลาหลในตลาดได้ หากมีการเทขายอย่างกะทันหัน (blockholder)

                    ประการสุดท้าย ความพยายามในการโจรกรรมข้อมูลคอยบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนต่ออนาคตของระบบการเงินดิจิทัล

                   ปัจจัยความเสี่ยงที่ค่าเงินดิจิทัลจะปรับตัวลดลงอย่างกะทันหัน และการขาดสภาพคล่องในตลาดซื้อขายเงินดิจิทัลลำดับรอง ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ เมื่อนักลงทุนเริ่มใช้วิธีการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการกู้โดยตรง หรือ short selling หรือ margin trading  โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่นักลงทุนเหล่านั้นประกอบธุรกิจในลักษณะที่เชื่อมโยงกับองค์กรและบริษัทอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจหลัก อาทิ กรณีที่รัฐเปิดโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ ที่ประกอบธุรกิจรับฝากเงินและปล่อยเงินกู้ให้ประชาชน หรือบริษัทประกันภัยที่ขายผลิตภัณฑ์ประกันมูลค่าหลักทรัพย์ (credit default swap) มีอิสระในการซื้อขายเก็งกำไรค่าเงินดิจิทัล

                    ความเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่าง ๆ (interconnectedness) ที่ซับซ้อนมากเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบการเงินอย่างรุนแรง เพราะระบบโครงสร้างการทำงานของเงินดิจิทัลได้รับการออกแบบเพื่อเก็บรักษาข้อมูลไว้เป็นอย่างดี ดีเสียจนองค์กรกำกับดูแลไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งเป็นอุปสรรคทำให้องค์กรกำกับดูแลเหล่านี้ไม่สามารถยื่นมือเข้ามาแก้ไขหรือลดผลกระทบของปัญหาความผันผวนของค่าเงินดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที

2. ผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของประชาชนทั่วไป

                    นอกจากประเด็นด้านเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจแล้ว ระบบการเงินดิจิทัลอาจส่งผลกระทบในระดับจุลภาคต่อประชาชนโดยทั่วไป เพราะประเภทการลงทุนและระดับการลงทุนของนักลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งมีตั้งแต่ผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์การลงทุนในตลาดหุ้นไปจนถึงมือสมัครเล่นที่ยึดเอาการ เล่นหุ้น เป็นเพียงงานอดิเรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนกลุ่มหลังที่อาจไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความเสี่ยงของการซื้อขายเงินดิจิทัล ซึ่งสูงกว่าความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นสามัญหรือหุ้นกู้ทั่วไปด้วยซ้ำ ความผันผวนของค่าเงินนี้เองอาจทำให้เกิดความสูญเสียด้านการเงินและเกิดเป็นปัญหาสังคมและเศรษฐกิจในระดับครัวเรือนและระดับประเทศตามมา

                   ประเด็นที่น่าห่วงกว่าการลงทุนในทรัพย์สินหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินโดยไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงความเสี่ยงของการลงทุนอย่างถ่องแท้คือ การใช้เงินดิจิทัลในการประกอบกิจการที่เป็นการหลอกลวงประชาชน และส่งผลให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยขอยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไนจีเรียเป็นอุทาหรณ์  เหตุการณ์แรกคือ มีขบวนการฉ้อฉลพอนซี่ (Ponzi scheme) ชื่อว่า MMM (Mavrodi Mondial Moneybox) ซึ่งเป็นขบวนการในลักษณะที่รู้จักกันในประเทศไทยจากกรณีแชร์แม่ชม้อย ได้สัญญากับผู้ลงทุนว่าโครงการดังกล่าวจะจ่ายผลตอบแทนอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของเงินลงทุนภายในระยะเวลา 30 วัน โดยผู้สนใจต้องโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของโครงการ  เมื่อรัฐบาลไนจีเรียมีคำสั่งอายัดบัญชีธนาคารของขบวนการฉ้อฉลนี้ ก็มีการชักชวนให้ประชาชนลงทุนผ่านเงินดิจิทัลสกุลบิทคอยน์แทนการทำธุรกรรมผ่านธนาคารเพื่อหลีกหนีการติดตามของทางการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ผู้บริหารโครงการนี้ตัดสินใจยกเลิกกิจการและหยุดจ่ายเงินปันผลอย่างกระทันหัน โดยพบในภายหลังว่ามีชาวไนจีเรียกว่า 3 ล้านคน สูญเงินลงทุนไปกับโครงการฉ้อโกงนี้เป็นจำนวนถึง 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือประมาณ 1.6 พันล้านบาท) ซึ่งเป็นเงินจำนวนมหาศาลสำหรับประเทศที่มีรายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อหัวน้อยกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ (96,000 บาท) ต่อปี

                   อย่างไรก็ดี ข่าวการฉ้อโกงด้วยเงินดิจิทัลนี้กลับจุดประกายให้ประชาชนชาวไนจีเรียเริ่มมาให้ความสนใจกับเงินดิจิทัล โดยเฉพาะ บิทคอยน์ มากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก  โดยในปีที่ผ่านมา ปริมาณการทำธุรกรรมผ่านเงินบิทคอยน์เพิ่มอย่างก้าวกระโดดจากมูลค่ารวม 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 4.7 ล้านดอลลาร์ภายในหนึ่งปี ซึ่งอาจเป็นเพราะความล้มเหลวของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันของไนจีเรียเองที่กระตุ้นให้คนไม่กลัวที่จะ “เสี่ยง”

                   เมื่อความนิยมในบิทคอยน์เพิ่มขึ้น ความพยายามของสิบแปดมงกุฎในการสร้างกลอุบายเพื่อหลอกลวงประชาชนก็เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ โดยอาชญากรมักมาในรูปแบบของการส่งอีเมล์หรือข้อความโดยอ้างเจ้าชายไนจีเรียผู้ซึ่งต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และเสนอให้เหยื่อโอนเงินสกุลท้องถิ่นเพื่อแลกกับบิทคอยน์ หรือในบางราย มีการสร้างประวัติเท็จเพื่อให้ผ่านกระบวนการสอบประวัติก็มี  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าชาวไนจีเรียส่วนใหญ่ที่ตัดสินใจลงทุนในบิทคอยน์ได้รับประสบการณ์ไม่พึงประสงค์ไปตาม ๆ กัน

                   ข้อควรคำนึงถึงทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคข้างต้นกระตุ้นให้ทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปขบคิดเพื่อออกแบบการกำกับติดตามและดูแลระบบการเงินดิจิทัลเพื่อจัดการกับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินของประเทศได้  สำหรับประชาชนทั่วไปที่สนใจลงทุนหรือจับจองเงินดิจิทัลเพื่อเก็งกำไรควรระวังถึงความผันผวนของราคา และมูลค่าของเงินดิจิทัลแต่ละสกุลที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง นอกจากนั้น ควรระลึกอยู่เสมอว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่เปิดโอกาสให้อาชญากรเข้ามาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบได้ทุกเมื่อ 

-------------
*Doctor of the Science of Law (J.S.D.), Columbia University, นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (narun.popat@gmail.com)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น