วันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

การเพิ่มโทษแก้ปัญหาได้จริงหรือ? โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกครั้งที่เกิดเรื่องเกิดราวสะเทือนใจอะไรขึ้นในสังคมไทย เรามักจะได้ยินกระแสเสียงเรียกร้องให้มีการเพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดอยู่เสมอ นัยว่าโทษที่มีอยู่นั้นมันยังไม่รุนแรงพอที่จะปรามมิให้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นได้

แต่หากพิจารณากันอย่างจริง จัง แล้ว จะพบว่าการกำหนดโทษรุนแรงแทบไม่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการกระทำความผิด เช่น ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าถึงยี่สิบปี ก็ยังมีการฆ่ากันตายทุกวี่ทุกวัน หรือการข่มขืนกระทำชำเราก็โทษไม่เบานะครับ จำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี ปรับอีกแปดหมื่นถึงสี่แสนบาท ก็ยังมีข่าวข่มขืนกันรายวัน เมืองพุทธเมืองพระนะนี่

ความคิดเรื่องการกำหนดโทษหนัก แรง เพื่อ "ปราม" มิให้กระทำความผิดจึงไม่ค่อยมีผลสักเท่าไร ยิ่งกำหนดโทษหยุม หยิม  ก็รังแต่จะสร้างปัญหาใหม่ ทำอะไรก็ผิดไปหมด อยู่เฉย ๆ เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ดีกว่า ประกอบกับกฎหมายนั้น "เข้าถึงยาก" "เข้าใจก็ยาก" แถมยัง "มีเยอะ" เหลือเกิน คนเลยไม่รู้ทำอะไรเป็นความผิดบ้าง และจะได้รับโทษอย่างไร เผลอ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองทำผิดเพราะไม่รู้ว่ามีกฎหมายนั้นอยู่ก็มี เช่น ต้นไม้ล้มทับบ้าน เจ้าหน้าที่ไปจับ ชาวบ้านก็งง กว่าจะเข้าใจว่าต้นไม้ที่ว่านี้เป็นไม้ต้องห้าม จะตัดต้องแจ้งเจ้าหน้าที่เขาก่อน ก็ทะเลาะกันเป็นเรื่องเป็นราวเสียหลายวันแล้ว 

แต่หลายเรื่องนั้น รู้ทั้งรู้ก็ยังทำผิด อันนี้แย่มาก ที่เห็นคาตาก็พวกทำผิดกฎจราจร ขับรถย้อนศร จอดในที่ห้าม  ปาดหน้า ฯลฯ นับวันยิ่งมากขึ้น พวกนี้ถึงจะเพิ่มโทษก็ไม่ได้ลดการกระทำผิดลง เพราะที่ทำลงไปไม่ใช่ไม่รู้กฎหมาย แต่เป็นพวกเห็นแก่ตัว ไม่เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม 

ผู้เขียนจึงเห็นว่าข้อเสนอในการกำหนดโทษต่าง ให้หนักขึ้นนั้นเป็นเพียงข้อเสนอเพื่อบรรเทาอารมณ์ร่วมกันของสังคมที่กำลังโมโหกับสิ่งที่เกิดขึ้น และเป็นข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด ถ้าจะเกาให้ถูกที่คันจริง ข้อเสนอควรเป็นว่าทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดปัญหานี้ขึ้นอีก หรือทำอย่างไรปัญหานี้จะเบาบางลง ไม่ใช่ยิ่งมากขึ้น ยิ่งรุนแรงขึ้น

ในทัศนะของผู้เขียน ทางออกของเรื่องนี้จึงไม่ใช่เอะอะก็เพิ่มโทษ มันน่าจะเป็นการปลูกฝังให้คนเราตระหนักรู้ มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี มีความรับผิดชอบต่อสังคม อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่สังคม ให้รู้จักยับยั้งชั่งใจ 

ผู้เขียนเห็นว่ายิ่งสมาชิกของสังคมมีความละอายต่อบาป หรือมีความยับยั้งชั่งใจที่จะกระทำความชั่วร้ายหรือทำอะไรที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของคนอื่นมากขึ้นเท่าไร การกระทำผิดก็จะยิ่งลดน้อยลง หรือแค่มักง่ายให้น้อยลง คนอื่นก็จะเดือดร้อนน้อยลง ซึ่งการปลูกฝังความละอายต่อบาปนี่เกี่ยวกับการอบรมมาตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน เรื่อยมาจนกลายเป็นนิสัยของคนและค่านิยมของสังคม ไม่ใช่กฎหมายอย่างเดียว ครอบครัวก็มีส่วน โรงเรียนก็มีส่วน สังคมก็มีส่วน

ในทางตรงข้าม ถ้าคนในสังคมขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดีมากเท่าไร ปัญหาสังคมก็จะมากมายขึ้นเพียงนั้น เพิ่มโทษจึงไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลย แถมอาจทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นด้วย

จะว่าไปเรื่องนี้ครอบครัวมีความสำคัญไม่น้อย เพราะเด็กจะซึมซับสิ่งที่พ่อแม่ทำและกลายมาเป็นตัวตนของเขา เช่น ถึงกฎหมายจะบอกว่าห้ามปาดเส้นทึบ ครูสอนว่าต้องเคารพกฎจราจร แต่ถ้าพ่อแม่ไม่มีหิริโอตัปปะ หรือขาดความละอายต่อบาป ขับรถปาดเส้นทึบเป็นประจำ ขอฉันไปก่อน นิดเดียวเท่านั้น เด็กเขาเห็นทุกวันเขาก็ชิน กลายเป็นเรื่องปกติไป ไม่ผิดหรอก ก็พ่อแม่ฉันทำประจำ มันจะผิดได้อย่างไรกัน พอโตมาเขาก็ทำอย่างที่พ่อแม่ทำนั่นแหละ 

แต่ถ้าตอบข้อสอบละก็ เด็กเขาจะตอบชัดเจนตามที่ครูบอกว่าต้องเคารพกฎจราจรเพื่อให้ได้คะแนน นี่เรากำลังสอนลูกสอนหลานให้มีนิสัยพูดอย่างทำอย่างนะครับ     

ที่สำคัญ กระบวนการยุติธรรมต้องยุติธรรมจริง ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม ต้องแยกให้ออกระหว่างความสัมพันธ์ส่วนตัวกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ไม่อย่างนั้นความยุติธรรมไม่บังเกิด การดำเนินคดีต้องเข้มแข็ง ตรงไปตรงมา ไม่ล้าช้า การบังคับโทษต้องจริงจัง การลดหย่อนผ่อนโทษควรเป็นข้อยกเว้น ไม่ใช่หลักทั่วไป เพราะเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการลงโทษ

ผมว่าการคิดเพื่อการปฏิรูปต้องมองในองค์รวม เป้าหมายคือเพื่อแก้ปัญหาให้เป็นระบบ ถ้าคิดแบบแยกส่วน ก็จะแก้แบบเล็ก น้อย  เรื่องไหนมีปัญหาก็เฮโลไปมุ่งที่จุดนั้น แล้วก็ปะผุกันไป นั่นคงยากที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น