วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

One-in, X-out โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนกับน้องอีกสองคนได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการด้านนโยบายกฎหมาย (Regulatory Policy Committee: RPC) ครั้งที่ 17 ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ความรู้ใหม่ มามากมาย เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก จึงสรุปมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบด้วย ถือเสียว่าเป็นของฝากจากคนเบี้ยน้อยหอยน้อยก็แล้วกัน
ประเด็นหลักของการประชุมรอบนี้เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร เรื่องที่ว่านี้ก็คือการยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เยอะแยะตาแป๊ะไก่นี่แหละครับ 

เชื่อไหมครับว่าฝรั่ง จีน แขก ไทย เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือชอบออกกฎหมาย ออกแล้วก็ออกเลย ใช้มาเรื่อยเปื่อย ไม่ค่อยสนใจที่จะยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขให้มันทันยุคทันสมัยเสียบ้าง ถ้ามีปัญหาอะไร ก็เอาง่ายเข้าว่าคือออกกฎหมายใหม่ มาแก้ปัญหานั้น เป็นการเฉพาะ 

ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะนานวันเข้าทุกประเทศก็มีกฎหมายในตู้จำนวนมาก ของเก่าก็ไม่เลิกไม่แก้ไข ออกใหม่มาปะผุกันอีก กลายเป็นว่ากฎเกณฑ์รุงรังไปหมด บางเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ อย่างจะส่งออกลูกชิ้นเสียบไม้ไปปิ้งขายที่ญี่ปุ่นเพื่อตีตลาดปิ้งย่างญี่ปุ่นให้แตกกระจายเพราะลูกชิ้นปิ้งไทยนั้นสุดยอดมาก แต่เชื่อไหมครับว่าคนคิดจะทำกิจการนี้เลิกสนใจไปหลายรายแล้วเพราะต้องทำตามกฎหมายสามสี่ฉบับ แถมยังตามด้วยกฎหมายลำดับรองอีกหลายอยู่ สร้างต้นทุนและภาระแก่พี่น้องประชาชนมาก start ไม่ up ไปเสียอย่างนั้น

ที่ประชุมนี้เขาเลยคิดจะล้างสต๊อกกฎหมายซ้ำซ้อนเหล่านี้ครับ เขาเสนอให้ใช้หลัก One-in, X-out คือ ถ้ามีกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งออกมาใช้ ต้องเลิกกฎหมายเก่า X ฉบับ เจ้า X ที่ว่านี้จะเป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ ก็ได้ ไม่ว่ากัน สำคัญคือถ้ามีกฎหมายใหม่ออกมา ต้องเลิกกฎหมายเก่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไปด้วย จะกี่ฉบับก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ต้อง One-in, One-out เป็นอย่างน้อย

นักกฎหมายไทยฟังแล้วคงนึกด่าว่าฝรั่งนี่มันคิดอะไรลวก กฎหมายมันพัวพันกัน จะเอาง่าย แบบ One-in, X-out ได้ยังไง ฝรั่งบ้าไปแล้วหรือเปล่า

ผู้เขียนฟังเหตุผลที่เขาถกกันหน้าดำคร่ำเครียดแล้วก็คิดว่ามันเป็นไปได้นะครับและตอนนี้ใช้นโยบายนี้กันหลายประเทศแล้ว อังกฤษ เยอรมัน แคนาดา ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ประเทศที่เราชอบไปลอกกฎหมายเขามาทั้งนั้น ที่ประชุมเขาเห็นว่าถ้าใช้หลักนี้อย่างจริงจังจะเป็นการบังคับให้นักออกกฎหมายต้องคิดหน้าคิดหลังให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่เอะอะเสนอออกกฎหมายใหม่กันตะพึด จนมีกฎหมายเต็มไปหมด ทั้งจะทำให้คุณภาพของกฎหมายดีขึ้นด้วย เพราะจะได้มีการทบทวนเนื้อหาสาระของกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปในตัว แถมพี่น้องประชาชนก็เข้าใจได้ง่าย เพราะเป็นไปตามหลักเก่าไป-ใหม่มาถ้าเก่าไม่ไป แถมมีใหม่มาเรื่อย มันก็จะกลายเป็นดินพอกหางหมูเห็นภาพเลยไหมล่ะ

ที่สำคัญหลัก One-in, X-out นี้เขาใช้คู่กับการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) กับการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกรอบระยะเวลา (Sunset Law) และการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยนะครับ

ถ้าเรายกเรื่อง One-in, X-out เป็นวาระแห่งชาติด้านกฎหมายก็น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ simply the best ครับ


ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน ปวดหัวเปล่า .

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น