วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงอนาคตของชาติ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

แต่ก่อนร่อนชะไรเวลาพูดถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาของชาติ เราก็จะนึกถึงแต่กระทรวงศึกษาธิการที่ตั้งมานมนาน
และแน่นอน พอพูดถึงการศึกษาปุ๊บ คนฟังก็จะคิดปั๊บไปถึงปัญหาสารพัดสารพัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครูอาจารย์ ตำรับตำรา ความเหลื่อมล้ำ เรียนฟรีกี่ปี โครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โตมโหระทึก ม้ารถทศพล เงินเดือน เงินเพิ่ม หนี้ครู หน่วยไหนจะแยกออกมาเป็นอิสระ ฯลฯ 

ว่าง่าย คือคิดถึงแต่เรื่องที่แต่ละคนฝังใจ ไม่ค่อยคิดถึงเป้าหมายการพัฒนาในภาพรวมอย่างที่รัฐธรรมนูญ รัฐบาล และพี่น้องประชาชนต้องการ

จริง ก็ไม่ผิดหรอกครับ ผมว่าเราคุ้นเคยกับสถานการณ์นี้มานานจนคิดอะไรไม่ออกแล้ว พอพูดถึงปฏิรูปการศึกษาสิ่งที่คิดที่ทำก็วน อยู่ในเรื่องที่ว่านี้กันทุกรอบไป จนกลายเป็นพายเรือในอ่าง ไม่ไปไหนสักที เสียเงินวิจงวิจัยไปไม่รู้เท่าไร ได้ผลงานมาเป็นตัน จนคนแถวบ้านที่เริ่มตั้งชาติหลังเราหลายปีแซงไปติดอันดับโลกแล้ว 

เอ.. หรือว่ามนต์ขลังของคำว่าการศึกษามันทำให้เราคิดอะไรใหม่ ไม่ออก ติดกับดักตัวเองไปซะงั้น

ผู้เขียนจึงลองคิดแผลง ดูว่า ถ้าเราเปลี่ยนชื่อของกระทรวงศึกษาธิการเสียใหม่ เป็นกระทรวงอนาคตของชาติมันจะทำให้ได้ผลที่แตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า 

เหตุที่คิดแบบนี้เพราะว่าภารกิจการสร้าง “อนาคตของชาติ” ทำให้ต้องคิดในองค์รวม ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการศึกษาอย่างเดียว ต้องคิดถึงเป้าหมาย คือ อนาคตจะเป็นอย่างไร คนของเราในอนาคตจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไรจึงจะอยู่ได้อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรี เป็นเอเชียชั้นหนึ่ง ไม่ใช่เอเชียชั้นสองหนือชั้นสาม ไปประชุมที่ไหนไม่นั่งเงียบเป็นหอยในฝา ไม่มีส่วนร่วม เน้นกินเน้นช้อป ไปดูงานกันมาทั่วโลกแล้วก็ไม่เห็นจะพัฒนาสักทีหนึ่ง เป็นต้น 

ถ้าเป็นกระทรวงอนาคตของชาติ กระทรวงนี้ต้องมีภารกิจในการคิดอ่านว่าอนาคตของชาติจะมุ่งไปในทิศทางไหน เราจะเตรียมความพร้อมของคนของเราอย่างไรให้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการทำงานตามที่ตนเองถนัด สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม ไม่ใช่ทำอะไรตามใจฉัน เอาง่ายเข้าว่า ไม่คิดอะไรไกล ๆ มักง่าย หรือเอาแต่ร้องแรกแหกกระเชอให้คนอื่นมารุมช่วยเหลือเพราะฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล 

เมื่อเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็จะช่วยให้สังคมช่วยกันมองลึกลงไปในรายละเอียดว่าถ้าจะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข ได้เรียนตามถนัด รู้จักฝันและพยายามทำฝันให้เป็นจริง มีสุขภาพกายสุขภาพจิตสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ต้องเรียนพิเศษหัวทิ่มหัวตำ มีกองทุนสนับสนุนคนด้อยโอกาส ครูบาอาจารย์สอนหนังสือเป็นหลัก สอนอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคมจะประสานพลังกันอย่างไรเพื่อสร้างอนาคตของชาติ จะบูรณาการการทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของสังคม จาก "ต้องเรียนให้สูง ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน" เป็น "มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่ตัวเองถนัด" เพราะทุกอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร พ่อค้า แม่ค้า คนขับรถรับจ้าง ฯลฯ เพราะทุกอาชีพต้องพึ่งพากัน 

ภารกิจนี้ "ยิ่งใหญ่" กว่าจัดการศึกษาอย่างเดียวนะผมว่า เพราะเป็นภารกิจที่มีผลต่อประเทศชาติในระยะยาว

เปลี่ยนบ้างก็ดีนะครับ ไม่งั้นคงคิดอะไรใหม่ ได้ยากมาก.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น