วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

เมื่อ ดร. มาลงทะเบียนคนจน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนเป็นคนตกใจง่าย ยิ่งมีข่าวเกี่ยวกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐแพล่ม ออกมา ผู้เขียนยิ่งตกใจใหญ่ เพราะตามข่าวนั้นปรากฏว่าในจำนวนผู้มาลงทะเบียนนั้นเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกถึง 698 คน ปริญญาโท  5,810  คน และปริญญาตรี  359,543 คน
บังเอิญข้อมูลนี้ยังไม่ละเอียดเพียงพอ เพราะไม่ได้ระบุว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาระดับนี้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20-60 ปี อันเป็นช่วงวัยทำงานสักเท่าไร จึงยังทำให้ผู้เขียนโลกสวยได้บ้าง

แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าคนกลุ่มนี้อยู่ในช่วงวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่แล้วละก็ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากมาย

ประการแรก ถ้าเป็นการลงทะเบียนแบบลักไก่ หรือลงเผื่อไว้ว่ารัฐจะตรวจสอบไม่ละเอียด มันแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางจริยธรรมอย่างรุนแรง มีความรู้มากกว่าเขาแล้วยังจะมาเอาเปรียบคนด้อยโอกาสจริง อีก เรียกว่าขาดความละอายต่อบาป

ประการที่สอง ถ้าพวกเขาไม่ได้หวังจะลักไก่ ส่วนหนึ่งของตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน เพราะไม่สามารถสร้างคนให้มีความสามารถในการทำงานอย่างหลากหลายได้มากมายถึงเกือบสี่แสนคน

ยิ่งระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วมากขึ้นเท่าไร การจ้างงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่มนุษย์ลุงอย่างผู้เขียนคุ้นเคยจะยิ่งลดน้อยลงในอัตราเร่งที่สูงขึ้น หากระบบการสร้างคนยังไม่สามารถปรับตัวให้รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ไป แทนที่คนกลุ่มนี้จะเป็นพลังของชาติ ดันกลายมาเป็นภาระของรัฐไปเสียอย่างนั้น

ถ้าเป็นนักหมากฮอสเขาเรียกว่ารัฐต้องเสียสองต่อ ต่อแรกคือให้เรียนฟรียาว ๆ ไป ต่อที่สองคือเรียนจบแล้วกลับไม่มีความสามารถในการทำงาน และรัฐต้องเข้าไปดูแลทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงวัยอันควร แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาละนี่

ประการที่สาม มันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาแบบดั้งเดิม คือให้ลูกหลานตะบี้ตะบันเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาสูง ไว้ก่อน สาขาอะไรก็ได้ "เพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน" แต่จะไปทำมาหากินอะไรต่อไปไว้ค่อยว่ากัน ไม่ได้ส่งลูกส่งหลานไปหาความรู้เพื่อให้ไปทำมาหากินได้

น่าตกใจไหมล่ะครับ?

นี่ถ้าได้ข้อมูลลึกมากกว่านี้อีกสักหน่อยหนึ่งว่าปริญญาสาขาอะไรที่มาลงทะเบียนมากที่สุด และจากสถาบันอะไรบ้าง ผู้เขียนว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะอย่างน้อยรัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่ารัฐควรประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบข้อมูลที่ว่านั้น และถ้าใครเสี่ยงเข้ามาเรียนสาขาที่ว่ามานี้อีกโดยไม่นับคนที่ลงทะเบียนเรียนอยู่แล้วรวมเข้าด้วย รัฐจะไม่ให้สิทธิ์ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ หรือถ้ากลัวเขาว่าใจดำ จะให้บางอย่างก็ได้   

ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการส่งลูกหลานเรียนต่อ โดยให้ไปเรียนสาขาอื่นที่ทำมาหากินได้ จะดีกว่ามุ่งเรียนเอาปริญญาสาขาที่ว่าไปแปะฝาบ้านแต่ไม่รู้จะทำอะไรกิน  

ส่วนระยะยาว เราคงต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน "สร้าง" คนของเราให้สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและความชอบของแต่ละคน เพื่อให้เขามีความสามารถในการทำมาหากิน สามารถทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่เรียนให้ผ่านไปวัน ๆ ตามหลักสูตรปลากระป๋องเพียงเพราะเรียนฟรีตามแนวคิดในการ "ผลิตคน" เพื่อป้อน "ตลาดแรงงาน"  หรือไม่ใช่แค่ผลิตคนทุก ๆ คนที่มีความถนัด ความชอบ หรือความฝันที่ต่างกันออกมาให้เหมือน ๆ กันเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนสี่สิบห้าสิบปีที่ผ่านมาอีกต่อไป 

ในทัศนะของผู้เขียน แนวคิดในการผลิตคนเพื่อป้อน "ตลาดแรงงาน" นั้นมันใช้ได้กับบ้านเมืองที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือไม่ก็โลกยุคโบราณเมื่อหลายสิบปีก่อนที่โลกยังไม่ได้กลายมาเป็นโลกไร้พรมแดนครับ เพราะความต้องการมันชัดเจน  แต่ในอนาคตนั้นตลาดแรงงานบ้านเราดูจะเป็นภาพที่เลือนลางมากก็เพราะการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีดิจิทัลนี่แหละ

อย่างธนาคารไง เมื่อก่อนคนทำงานแบงค์กันตรึม แต่พอมีโมบายแบงค์กิ้งเข้ามา แบงค์ก็ต้องปรับตัว เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพราะถูกกว่าจ้างคน ปัญหาก็น้อยกว่า เป็นต้น 

ดังนั้น "การสร้างคน" ให้ (1) มีความกระหายหรือความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ หรือที่เขาเรียกกันทั่วโลกว่ามีทักษะที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต (2) มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ (3) มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนของเราปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

โลกเปลี่ยนไปไกลมากแล้วครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น