วันเสาร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ถอดบทเรียนจากกรณีน้ำท่วมสกลนคร โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

กรณีน้ำท่วมสกลนครและอีกหลายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตอนล่างในเดือนกรกฎาคม 2560 นี้ ผู้เขียนคงไม่พูดถึงความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะสื่อต่าง ได้ลงข่าวไว้โดยละเอียดแล้ว  แต่สิ่งที่อยากพูดถึงคือทำอย่างไรเหตุการณ์แบบนี้จึงจะไม่เกิดขึ้นในที่อื่นอีก เพราะการป้องกันมิให้เกิดความเสียหายน่าจะดีกว่าเสียหายแล้วไปเยียวยาทีหลัง

ผู้เขียนสังเกตพบว่าเขตชุมชนเก่าแก่จะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังมากกว่าชุมชนใหม่ ปัญหาน่าจะมาจากการถมที่ของชุมชนเกิดใหม่ที่ล้อมรอบชุมชนเก่าเพราะทุกวันนี้เราไม่ได้ปลูกบ้านตามวิถีไทย แต่นิยมปลูกบ้านตามวิถีฝรั่ง คือปลูกบ้านติดดิน ไม่ยกเสาเรือนสูงเหมือนก่อน ใครจะปลูกบ้านจึงต้องถมที่กันเป็นปฐม 

เมื่อเมืองขยายตัวออกไป เขตชุมชนใหม่ก็จะสูงกว่าเขตชุมชนเก่าเรื่อย พอมีการสร้างถนนหนทาง เขาก็จะทำให้สูงขึ้นจากของเดิม ชุมชนตามถนนตัดใหม่จึงต้องถมที่สูงขึ้นไปอีก อย่างน้อย ก็ต้องสูงเท่ากับถนน ไม่งั้นเวลาฝนตกน้ำจะไหลเข้าบ้าน เป็นอย่างนี้กันทุกที่ทั่วประเทศ บ้านผู้เขียนเคยโดนครับ ทางการเขาปรับปรุงถนนใหม่ ยกสูงขึ้นทีเดียว 1.50 เมตร บ้านสองชั้นกลายเป็นชั้นเดียวไปเลย ฝนตกทีนึงน้ำขังเป็นบ่อ สุดท้ายต้องย้ายบ้านหนี

ดังนั้น ระดับความสูงของพื้นที่ทั่วประเทศในทุกวันนี้จึงเปลี่ยนแปลงไปจากธรรมชาติดั้งเดิมมากแล้ว เมื่อก่อนฝนตกจะรู้ว่านำ้ไหลไปทางไหน เพราะรู้ว่าตรงไหนสูง ตรงไหนต่ำ ตรงไหนเป็นทางน้ำไหลผ่าน แต่ตอนนี้ไม่รู้แล้ว ดูผังเมืองก็ไม่รู้ เมืองกลายเป็นแอ่งขนาดเล็กขนาดใหญ่เต็มไปหมด โดยเฉพาะเขตเมืองเก่าที่ยากต่อการพัฒนา ฝนตกทีน้ำขังกันที รถราบ้านช่องจมน้ำเสียหายกันทีละไม่น้อย ทั้งกระทบระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมาก แค่มีภาพออกไปทั่วโลกว่าวันนี้ฝนตกแล้วถนนกลายเป็นคลอง ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของประเทศก็หดหายไปแล้ว

ที่สกลนครกับหลายจังหวัดในเวลานี้โดนแค่หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงนะครับ ถ้าโดนพายุเข้าจัง จะเป็นอย่างไรไม่อยากจินตนาการเลย

ผู้เขียนว่าถ้าเราใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส สำรวจระดับความสูงของพื้นที่ทั่วประเทศกันอย่างจริง จัง แล้วเปิดเผยให้พี่น้องประชาชนทราบน่าจะเป็นประโยชน์มาก โดยเฉพาะข้อมูลที่ว่าทางน้ำไหลจริง ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เพราะคงไม่มีใครอยากซื้อบ้านที่อยู่ในทางน้ำไหล การก่อสร้างถนนหนทางของทางราชการต้องคำนึงถึงทิศทางการไหลของน้ำและการระบายน้ำด้วย เพราะภาพข่าวที่เห็นอยู่กลายเป็นว่าถนนนี่แหละที่ขวางทางน้ำไหล 



ท้ายนี้ ผู้เขียนยังยืนยันความเห็นที่ว่าไม่ควรให้มีการก่อสร้างใด ในเขตทางน้ำไหลอย่างเด็ดขาดเพราะจะสร้างปัญหาไม่หยุดหย่อนต่อสาธารณชนโดยรวม อาจต้องมีการเวนคืนมาเป็นที่ดินของรัฐเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพให้หมดเรื่องหมดราวไปโดยชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครอง เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดในการสร้างบ้านพักอาศัยให้สอดคล้องกับวิถีไทย เพื่อให้สามารถรองรับกับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจให้แรงจูงใจด้านเงินกู้หรือภาษีถ้าสร้างบ้านใต้ถุนสูง เพื่อสร้างเมืองที่น่าอยู่ให้แก่ลูกหลานของเราในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น