วันจันทร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของการวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย โดย นางสาวใจใส วงส์พิเชษฐ

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพของการวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย[๑]

นางสาวใจใส  วงส์พิเชษฐ[๒]

การวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย (RIA) มีเป้าประสงค์หลักสองประการ คือ (๑) เพื่อพัฒนาคุณภาพของกระบวนการออกกฎระเบียบในการกำกับดูแลของภาครัฐ และ (๒) เพื่อพัฒนาคุณภาพของกฎระเบียบของภาครัฐให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของสังคม โดยนอกจากเครื่องมือในการคำนวณต้นทุนและผลประโยชน์ (cost and benefit methodologies) ซึ่งนับว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดทำ RIA แล้ว การออกแบบกระบวนการและหน่วยงานกลางในการจัดทำ RIA ก็นับว่าเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กันในการกำหนดคุณภาพของการจัดทำ RIA และการควบคุมคุณภาพของกฎระเบียบของภาครัฐ  องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD จึงได้รวบรวมศึกษาปัจจัยเกี่ยวกับกระบวนการจัดทำ RIA และปัจจัยเกี่ยวกับหน่วยงานผู้กำกับดูแลที่มีผลต่อระดับคุณภาพการจัดทำ RIA จากประสบการณ์ของประเทศสมาชิก และพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพการจัดทำ RIA ซึ่งเกิดจากการออกแบบโครงสร้างกระบวนการและหน่วยงานกลางนั้นมี ๔ ประการหลัก ดังนี้

๑. การเริ่มดำเนินการ RIA

หน่วยงานควรเริ่มดำเนินการจัดทำ RIA ให้เร็วที่สุด กล่าวคือ หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายควรเริ่มดำเนินการในส่วนของการจัดทำ RIA ในระยะแรกสุดหลังจากที่ได้มีการประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลหรือแก้ไขปัญหาบางประการ การเริ่มดำเนินการ RIA ก่อนที่จะมีการร่างกฎหมายจะช่วยให้หน่วยงานสามารถศึกษาและวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างละเอียดครบถ้วนและไม่ยึดติดกับกรอบความคิดที่มักเกิดขึ้นในกรณีที่มีการร่างกฎหมายขึ้นก่อน หากการจัดทำ RIA เริ่มขึ้นหลังจากหน่วยงานได้ลงทุนทรัพยากรบุคคลและงบประมาณไปกับการจัดทำร่างกฎหมายแล้ว การจัดทำ RIA อาจถูกมองเป็นการสร้างภาระมากกว่าเป็นเครื่องมือในการออกกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

๒. ขอบเขตการดำเนินการ RIA (Scope):

RIA จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นหากมีการกำหนดขอบเขตการดำเนินการให้เหมาะสมกับข้อจำกัดด้านบุคลากรและทรัพยากรอื่น ๆ ของภาครัฐ การศึกษาตัวอย่างจากประเทศกลุ่มสมาชิก OECD พบว่าการกำหนดขอบเขตการดำเนินการ RIA สามารถกระทำได้ ๒ วิธีดังนี้

แบ่งโดยลำดับชั้นกฎหมาย - รัฐบาลอาจกำหนดขอบเขตการเลือกทำ RIA ตามลำดับชั้นของร่างกฎหมายที่หน่วยงานเสนอ โดยบางประเทศเลือกจัดทำ RIA เฉพาะในร่างกฎหมายลำดับรอง เนื่องจากในประเทศดังกล่าวการออกกฎหมายในชั้นพระราชบัญญัติจำเป็นต้องผ่านการตรวจสอบหลายขั้นตอนโดยละเอียดอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดแนวทางในการดำเนินการ RIA เพิ่มเติมอีก แต่สำหรับกฎหมายลำดับรองลงมาที่หน่วยงานสามารถออกได้เอง หน่วยงานอาจยังคงไม่สามารถจัดทำ RIA ได้เพียงพอ จึงควรมีการกำหนดแนวทางการดำเนินการ RIA ในส่วนนี้ขึ้น  ในทางตรงกันข้ามบางประเทศกลับเลือกใช้ทรัพยากรและบุคลากรที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำ RIA กับเฉพาะกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่มักจะมีผลกระทบในวงกว้าง เพื่อให้การทำ RIA มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด

แบ่งตามระดับความรุนแรงของผลกระทบ - รัฐบาลอาจกำหนดขอบเขตการเลือกทำ RIA ตามระดับความรุนแรงของผลกระทบในเชิงปริมาณหรือคุณภาพ

ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่จะพิจารณาระดับความรุนแรงของผลกระทบในเชิงปริมาณทางด้านต้นทุนการตรากฎหมาย (Regulatory Costs) เป็นหลักและใช้หลักฐานในเชิงคุณภาพทางด้านเศรษฐกิจหรือการแข่งขันเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดขอบเขตการจัดทำ RIA ตัวอย่างเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกากำหนดให้เฉพาะกฎหมาย (Major rules) ที่มีต้นทุนการใช้บังคับรายปีเกินกว่า ๑๐๐ ล้านดอลล่าร์สหรัฐ และมีผลกระทบรุนแรงต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและระดับการลงทุนของประเทศเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องมีการจัดทำ RIA  และในส่วนของประเทศเกาหลีใต้นั้น เฉพาะกฎหมายที่มีผลกระทบต่อประชาชนเกิน ๑ ล้านคน และเป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศเท่านั้นที่จะต้องผ่านการจัดทำ RIA  ทั้งนี้ OECD เห็นว่าการกำหนดขอบเขตในการจัดทำ RIA ในลักษณะนี้จะช่วยเพิ่มความชัดเจนและความยืดหยุ่นในการนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปปฏิบัติจริง

ในส่วนของ Two-Step RIA Process ซึ่งปัจจุบันถูกใช้อยู่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย เม็กซิโก เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องจัดทำรายงาน RIA ฉบับย่อเพื่อประเมินผลกระทบในเบื้องต้นก่อน โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะเป็นผู้พิจารณาว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะมีผลกระทบรุนแรงพอที่จำเป็นจะต้องจัดทำ RIA ฉบับสมบูรณ์หรือไม่  โดยในหลักการนั้น การจำแนกกระบวนการ RIA เป็น ๒ ขั้นตอนในลักษณะนี้ จะช่วยให้ภาครัฐสามารถจัดสรรบุคลากรและทรัพยากรในการจัดทำ RIA ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจในประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ พบว่าหน่วยงานมักละเลยการประเมินผลกระทบในเบื้องต้นจึงทำให้การแบ่ง RIA เป็นสองขั้นตอนในลักษณะนี้ไม่สามารถพัฒนาคุณภาพของการจัดทำ RIA ขึ้นได้ตามที่คาดการณ์ไว้ ภาระดังกล่าวจึงมักจะตกอยู่กับหน่วยงานกลางซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับดูแล

๓. กลไกการตรวจสอบคุณภาพของ RIA (Accountability and Quality Assurance mechanisms)

การจัดตั้งหน่วยงานกลางเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดทำ RIA ของหน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายนับเป็นกลไกสำคัญในการควบคุมคุณภาพของ RIA  ปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อประสิทธิภาพของการทำงานของหน่วยงานกลาง คือ (๑) วิธีการจัดตั้ง (โดยกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรี) (๒) ขอบเขตของภารกิจและอำนาจ (๓) ความเชี่ยวชาญของบุคลากรและทรัพยากรอื่น ๆ ในสังกัด (๔) ความเป็นอิสระในการดำเนินการ และ (๕) การยอมรับและการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น ๆ  โดย OECD เห็นว่าหน่วยงานกลางอาจมีอำนาจในการสั่งห้ามไม่ให้ร่างกฎหมายที่มีรายงาน RIA ต่ำกว่ามาตรฐานผ่านเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ (สหรัฐอเมริกา) แต่หากปัจจัยอื่น ๆ ทางด้านการทำงานหรือการเมืองไม่อำนวย อย่างน้อยหน่วยงานกลางก็ควรมีอำนาจในการตรวจสอบและรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีก่อนที่ร่างกฎหมายจะได้รับพิจารณา (ออสเตรเลีย)

นอกจากนั้น รัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน หรือหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ของหน่วยงานควรเป็นผู้ลงนามรับผิดชอบความถูกต้อง และมาตรฐานของ RIA ก่อนที่จะได้รับการตรวจสอบจากหน่วยงานกลาง เพื่อเป็นกลไกในการบังคับให้หน่วยงานทำการตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนของรายงาน RIA ด้วยตนเองอีกทางหนึ่งก่อนการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี


๔. การรับฟังความคิดเห็นและการจัดทำ RIA

การนำผลการรับฟังความคิดเห็นมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำ RIA นอกจากจะช่วยให้การวิเคราะห์ผลกระทบของหน่วยงานสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของสังคมมากยิ่งขึ้นแล้ว ก็ยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสของการดำเนินการและความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการ (Transparency and accountability) รวมถึงช่วยส่งเสริมกลไกการตรวจสอบคุณภาพ (Quality assurance) ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นอีกทางหนึ่งด้วย  OECD ให้ข้อสังเกตว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในระยะเริ่มแรกของการจัดทำ RIA อาจมีประโยชน์ต่อการควบคุมคุณภาพของ RIA มากกว่าการพัฒนาความโปร่งใสของการดำเนินการ เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ระยะเริ่มแรกนอกจากจะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนแล้ว การนำผลการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวมาประกอบการจัดทำ RIA ยังจะทำให้หน่วยงานสามารถจัดทำร่างกฎหมายและวิเคราะห์ผลกระทบได้ตรงประเด็นปัญหามากขึ้นอีกด้วย  อย่างไรก็ดี ประสบการณ์จากประเทศออสเตรเลียแสดงให้เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นหลังจากที่หน่วยงานได้จัดทำรายงาน RIA เสร็จสิ้นแล้วนั้นยังคงส่งผลดีต่อการควบคุมคุณภาพเช่นกัน เนื่องจากการตรวจสอบจากประชาชน (public scrutiny) จะเป็นแรงผลักดันให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบตั้งใจจัดทำรายงาน RIA ให้มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง เพื่อลดปัญหาความไม่พึงพอใจที่อาจเกิดขึ้นจากประชาชนในชั้นการรับฟังความคิดเห็น

อนึ่ง OECD พบว่า ในการปฏิบัติจริงนั้น หัวใจหลักของความสำเร็จในการออกแบบโครงสร้างและกระบวนการจัดทำ RIA คือ แรงสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากหน่วยงานฝ่ายบริหารส่วนกลาง ที่จะต้องมีความพร้อมและเต็มใจที่จะดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่รัฐบาลวางไว้  แม้ว่าแนวปฏิบัติจะถูกกำหนดไว้ในรูปของกฎหมาย (เช่น ประเทศเกาหลีใต้ เม็กซิโก และบางรัฐในออสเตรเลีย) มติคณะรัฐมนตรี (เช่น ประเทศเยอรมนี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร) หรือคำสั่งนายกรัฐมนตรี (เช่น ประเทศอิตาลี, บางรัฐในออสเตรเลีย, เนเธอร์แลนด์) แต่กระบวนการ RIA ก็ยังไม่อาจพัฒนาคุณภาพของกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากหน่วยงานทุกภาคส่วนยังคงเห็นว่าการจัดทำ RIA เป็นเพียงข้อบังคับ และไม่พร้อมใจสนับสนุน ให้ความสำคัญกับ RIA อย่างแท้จริง


************



[๑]สรุปความจาก OECD, Reviews of Regulatory Reforms: Regulatory Impact Analysis A Tool for Policy Coherence (OECD publishing 2009).
[๒]นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ กองพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (๒๕๖๐)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น