วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คำแปลหลักการปารีส โดย นางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต

คำแปล
หลักการเกี่ยวกับสถานะของหน่วยงานระดับชาติ[1]
โดยนางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต[2]

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ

1.       ให้หน่วยงานระดับชาติ[3] มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

2.       ให้หน่วยงานระดับชาติมีอำนาจอย่างกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้ตามที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่กำหนดองค์ประกอบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานระดับชาติ

3.       ให้หน่วยงานระดับชาติมีบรรดาความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
          (เอ) เสนอความเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ และรายงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจ บนพื้นฐานของการให้คำแนะนำ ไม่ว่าตามคำร้องขอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตามผลการพิจารณาของหน่วยงานระดับชาติที่ต้องสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรอื่น และหน่วยงานระดับชาติมีอำนาจตัดสินใจที่จะเผยแพร่บรรดาความเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ และรายงานเหล่านั้นได้  และหน่วยงานระดับชาติต้องมีอำนาจในกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
                    (i) กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองใด ๆ รวมถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับองค์การตุลาการที่มุ่งรักษาและให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยหน่วยงานระดับชาติต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองใดที่มีผลบังคับใช้ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติและข้อเสนอเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และให้คำแนะนำตามที่เห็นสมควรเพื่อประกันว่าบทบัญญัติหรือคำสั่งเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชน และในกรณีที่จำเป็น ให้หน่วยงานระดับชาติให้คำแนะนำให้มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ หรือให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว รวมทั้งการมีคำสั่งทางปกครองใหม่หรือแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่ใช้อยู่
                    (ii) กรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่หน่วยงานระดับชาติเห็นควรพิจารณาดำเนินการ
                    (iii) กรณีการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชาติ ทั้งสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วไป และเฉพาะเรื่อง
                    (iv) สร้างความตระหนักแก่รัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อยุติสถานการณ์ดังกล่าว และหากจำเป็น อาจต้องแสดงความเห็นต่อจุดยืนและปฏิกิริยาของรัฐบาล
          (บี) ส่งเสริมและทำให้เกิดความมั่นใจว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบ และการปฏิบัติต่าง ๆ ของประเทศสอดคล้องกับความตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี และมีการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
          (ซี) สนับสนุนการให้มีการให้สัตยาบันความตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี หรือการภาคยานุวัติความตกลงเหล่านั้น และติดตามว่ามีการปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าว
          (ดี) มีส่วนร่วมในรายงานต่าง ๆ ที่รัฐต้องรายงานต่อหน่วยงานและคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติและหน่วยงานระดับภูมิภาค และตามพันธกรณีในหนังสือสัญญา และให้เสนอความเห็นที่จำเป็นในเรื่องดังกล่าวอย่างอิสระ
          (อี) ร่วมมือกับสหประชาชาติและหน่วยงานของสหประชาชาติ หน่วยงานระดับภูมิภาค และหน่วยงานระดับชาติของประเทศอื่นที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          (เอฟ) ช่วยเหลือในการกำหนดโปรแกรมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และมีส่วนร่วมในการดำเนินการในแวดวงโรงเรียน มหาวิทยาลัย และวิชาชีพ
          (จี) ให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความพยายามในการกำจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยการเพิ่มความตระหนักให้แก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านข้อมูลข่าวสารและการศึกษา และสื่อต่าง ๆ

องค์ประกอบและหลักประกันความเป็นอิสระและความแตกต่างหลากหลาย
1.       องค์ประกอบของหน่วยงานระดับชาติและการแต่งตั้งสมาชิก ไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้งหรือวิธีอื่นใด ต้องสอดคล้องกับกระบวนการที่สามารถประกันได้ว่าจะได้สมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลายทางพลังสังคม (ของสังคมพลเรือน) บรรดาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้แทนจากแวดวง ดังต่อไปนี้
          (เอ) NGOs ที่ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สมาคมการค้า องค์กรทางสังคมและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น วิชาชีพนักกฎหมาย แพทย์ สื่อสารมวลชน และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
          (บี) นักคิดทางปรัชญาหรือศาสนา
          (ซี) มหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิ
          (ดี) รัฐสภา
          (อี) หน่วยงานของรัฐ (หากมีผู้แทนกลุ่มนี้ ผู้แทนกลุ่มนี้ควรมีส่วนร่วมเฉพาะการพิจารณาข้อเสนอแนะเท่านั้น)

2.       หน่วยงานระดับชาติต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปโดยราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีงบประมาณที่เพียงพอที่จะจ้างเจ้าหน้าที่และจัดหาสถานที่เพื่อประกันความเป็นอิสระจากรัฐบาล และไม่อยู่ภายใต้บังคับการควบคุมทางการเงินที่อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ

3.       เพื่อประกันว่าสมาชิกของหน่วยงานระดับชาติจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายอย่างมั่นคง ซึ่งหากปราศจากหลักประกันนั้นแล้วจะไม่มีความเป็นอิสระที่แท้จริง การแต่งตั้งสมาชิกต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการและภายในระยะเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายออกไปได้หากเป็นไปเพื่อให้ได้สมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง

วิธีดำเนินงาน

          หน่วยงานระดับชาติต้องมีวิธีดำเนินงานดังนี้
          (เอ) พิจารณาเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่อย่างเสรี ไม่ว่าเป็นเรื่องที่เสนอโดยรัฐบาล หรือเป็นเรื่องที่หน่วยงานระดับชาติยกขึ้นมาพิจารณาเองโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรอื่น และไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สมาชิกยกขึ้นหรือเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา
          (บี) รับฟังบุคคลใด ๆ และรับข้อมูลและเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นต่อการประเมินสถานการณ์ที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่
          (ซี) แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะโดยตรง หรือโดยผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงความคิดเห็นและคำแนะนำต่อสาธารณะ
          (ดี) ประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและเมื่อใดก็ตามที่จำเป็นต่อการปรากฏตัวของสมาชิกทั้งหมดเมื่อมีการเรียกประชุมอย่างเป็นทางการ
          (อี) ตั้งคณะทำงานจากสมาชิกในกรณีที่จำเป็น และจัดตั้งส่วนงานในท้องถิ่นหรือในภูมิภาคเพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่
          (เอฟ) หารือกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตุลาการหรือหน่วยงานอื่นใด ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ไกล่เกลี่ย และหน่วยงานอื่นในทำนองเดียวกัน)
          (จี) ร่วมมือกับ NGOs ที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้กับการเหยียดชาติพันธุ์ การคุ้มครองกลุ่มผู้ด้อยโอกาส (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก แรงงานอพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้พิการทางสมอง) หรือด้านเฉพาะอย่างอื่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานระดับชาติ

หลักการเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะของคณะกรรมการที่มีอำนาจกึ่งตุลาการ

          หน่วยงานระดับชาติอาจได้รับอำนาจให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาการร้องเรียนและร้องทุกข์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคล โดยคดีอาจเข้าสู่การกระบวนวิธีพิจารณาดังกล่าวโดยบุคคลธรรมดา ตัวแทน บุคคลที่สาม NGOs สมาคมการค้า หรือตัวแทนขององค์การอื่น  ในกรณีเช่นนั้นและโดยไม่ขัดต่อหลักการข้างต้นเกี่ยวกับอำนาจอื่นของคณะกรรมการ การดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายอาจต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการดังต่อไปนี้
          (เอ) ดำเนินการระงับข้อพิพาทอย่างเป็นฉันท์มิตร โดยการไกล่เกลี่ย หรือการวินิจฉัยที่มีผลผูกพันตามที่กฎหมายบัญญัติ บนพื้นฐานการรักษาความลับในกรณีที่จำเป็น
          (บี) แจ้งให้ผู้ร้องทราบเกี่ยวกับสิทธิของตน โดยเฉพาะการเยียวยาที่บุคคลดังกล่าวอาจได้รับ และดำเนินการให้เขาได้รับการเยียวยาดังกล่าว
          (ซี) ดำเนินกระบวนการพิจารณาคำร้องเรียนหรือร้องทุกข์ หรือส่งคำร้องเรียนหรือร้องทุกข์ นั้นไปยังหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          (ดี) เสนอแนะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะ การเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขหรือการปฏิรูปกฎหมาย กฎ และมาตรการทางปกครอง ในกรณีที่กฎหมาย กฎ หรือมาตรการทางปกครองดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการร้องทุกข์เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคล




[1]หลักการปารีส: The Paris Principles
[2]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ©2016
[3]หน่วยงานระดับชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน