วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การถมที่: เหตุสำคัญของปัญหาน้ำท่วมขังในชุมชนเมือง

ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   ฤดูมรสุมปีนี้แม้จะมีฝนตกน้อยกว่าปีอื่น ๆ แต่ตกทีไรก็มีโฮทุกทีเหมือนกัน
                   โฮเพราะน้ำท่วมขังครับ!!
                   บ้านช่องห้องหับที่อยู่ริมถนนหนทางกลายเป็นบ้านริมคลองกันไปหมด รถราจมน้ำเสียหายมากมาย นาแล้งอยู่ดี ๆ กลายเป็นนาล่มเสียอย่างนั้น
                   ผู้เขียนไม่ทราบว่าใครเคยรวบรวมข้อมูลสถิติไว้บ้างหรือไม่ว่าฝนตกแต่ละครั้งนั้น ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเท่าไร เอาง่าย ๆ แค่ค่าซ่อมรถจมน้ำกับการซ่อมถนนหนทางที่เสียหายจากฝนตกน้ำขังแต่ละครั้งก่อนก็ได้ว่าใช้งบประมาณเท่าใด
                   ข้อมูลสถิติเหล่านี้จะเป็นตัวบ่งชี้ว่าโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแต่ละปีนั้นคุ้มค่าหรือไม่ เพราะถ้าไม่คุ้มจะได้เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการบ้าง ไม่ใช่ทำซ้ำ ๆ ทั้งที่ไม่ได้ผลอยู่อย่างนั้น ตั้งงบประมาณแบบเดิม ๆ ไปเรื่อย ๆ แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร
                   แต่ที่ผู้เขียนจะนำเสนอในวันนี้ ไม่ใช่การเสนอโครงการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องใช้เงินงบปประมาณ หากเป็นเรื่อง "การถมดิน" เพื่อก่อสร้างอาคารสถานที่ต่าง ๆ ครับ
                   เมื่อพูดถึงน้ำท่วมขัง ดูไม่ค่อยจะมีใครสนใจเรื่องการถมดินหรือที่เรียกกันติดปากว่า “ถมที่” กันสักเท่าไร ใครจะก่อสร้างอาคารบ้านเรือนอะไรก็ต้องถมที่กันทั้งนั้น
                   ถามว่าถมทำไม?
                   ก็ถมไม่ให้น้ำท่วมน่ะซี ถามอะไรโง่ ๆ ใคร ๆ เขาก็ถมทั้งนั้น ถ้าฉันปลูกบ้านแต่ไม่ถมที่ให้สูง บ้านฉันต้องเป็นบ่อรับน้ำแน่ ๆ
                   เมื่อทุกคนคิดเช่นนี้ เราจึงเห็นดีเห็นงามไปกับการถมที่ ต้องถมให้สูง ๆ ไว้นะ เผื่อหลวงมายกถนนด้วย ถ้าไม่เผื่อไว้แล้วหลวงมายกถนนให้สูงขึ้น บ้านเราจะเหลือชั้นเดียว!
                   เชื่อไหมครับว่าความคิดร่วมกันแบบนี้ของทุกคนในสังคมทำให้ความสูงต่ำของพื้นที่ธรรมชาติที่มีอยู่แต่เดิมเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างสิ้นเชิง แน่นอนครับว่าน้ำยังคงไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ แต่ตอนนี้เรารู้ไหมล่ะครับว่าที่ไหนเป็นที่ดอน ตรงไหนเป็นที่ลุ่ม ตรงไหนสูง ตรงไหนต่ำ ถ้าฝนตกลงมาแล้วน้ำจะไหลไป “ทิศทางไหน”
                   เมื่อก่อนตอนผมเด็ก ๆ เราดูชื่อพื้นที่ก็รู้ครับ เช่น ที่ดอนก็จะมีคำว่าดอน ชัน มอ หรือโคกนำหน้า เป็นต้นว่าตลิ่งชัน ดอนยายหอม ฯลฯ ที่ต่ำ ๆ ก็จะเป็นคำว่าบาง ทุ่ง หรือมาบ อาทิ บางบัวทอง บางน้ำเปรี้ยว มาบข่า ฯลฯ หรือถ้าใครมีความรู้หน่อยจะไปดูเส้นความสูงของพื้นที่ (Contour line) จากแผนที่ทหารก็ได้ แต่เดี๋ยวนี้ดูไปก็ไม่ได้ช่วยอะไรครับ เพราะเราถมดินกันจนความสูงของพื้นที่ตามธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว
                   ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนครับว่าเราไม่อาจรู้ได้ว่าถ้าฝนตกแล้วน้ำจะไหลไปทิศทางไหน ต้องภาวนาให้ลงท่อลงอุโมงค์กันอย่างเดียว และท่ออย่าตันล่ะ
                   นี่เป็นผลลัพธ์ของการถมที่กันจนเป็นปกตินิสัยในสังคมของเราครับ
                   เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมไปธุระที่หัวหิน ปรากฏว่ามีโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ใหม่ ๆ ผุดขึ้นมากมาย ถมดินกันจนข้างทางสูงกว่าถนน ขากลับตอนค่ำ ๆ เกิดฝนตกหนัก ปรากฏว่าถนนเพชรเกษมระหว่างหัวหิน-ชะอำ บางช่วงเหลือวิ่งได้ข้างละเลนเท่านั้น
                   น้ำไม่มีที่จะลงครับผม ต่างจังหวัดก็เป็นเหมือนกัน! ยิ่งพัฒนาอสังหาริมทรัพย์มาก ยิ่งเป็นมาก
                   ผมมีข้อเสนอว่าเราควรควบคุมการถมที่กันอย่างจริงจังเพื่อประโยชน์ส่วนรวมกันเสียที กฎหมายเรื่องนี้ก็มีมาตั้งแต่ปี 2543 แล้ว แต่ไม่รู้ว่ามีคนรู้จักกันไหม หรือจะใช้มาตรการทางภาษีบังคับด้วยก็ได้ ใครถมที่ต้องเสียภาษีถมที่ทุกปีเพราะทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล คนอื่นพาลเดือดร้อนไปด้วย หลวงก็ต้องนำเงินภาษีนี้มาจ่ายเป็นค่าป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมขัง
                   เรื่องความสูงต่ำของพื้นที่ทั่วประเทศก็ควรสำรวจใหม่ให้เป็นปัจจุบัน และประกาศให้ทุกคนทราบ ไม่ใช่มีข้อมูลแล้วเก็บเงียบหรือต้องจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงข้อมูลนี้ และเมื่อสำรวจแล้วพบว่าพื้นที่ใดที่เป็นที่ต่ำและเป็นทางน้ำไหล ควรห้ามการปลูกสร้างไปเลย หรือไม่ก็ต้องใช้เทคนิคในการปลูกสร้างที่ยอมให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก
                   ไม่งั้นฝนตกที น้ำขังที ร้องระงมต่อว่าเจ้าหน้าที่ ร้องหาอุโมงค์ยักษ์ ต่อว่าฟ้าฝนกันยกใหญ่ ซึ่งไม่ได้แก้ปัญหาอะไร
                   แต่ลืมไปว่า “เรา” ก็มีส่วนร่วมทำให้เกิดปัญหานี้ด้วย!