วันเสาร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ข้าราชการกับการพัฒนานวัตกรรมในการทำงาน

มีผู้มาบ่นให้ผู้เขียนฟังอยู่เสมอว่าข้าราชการไทยมีความสามารถพิเศษประการหนึ่ง นั่นคือความสามารถในการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก ๆ ได้เสมอ แทนที่จะทำเรื่องยาก ๆ ให้เป็นเรื่องง่าย ๆ

ในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง ผู้เขียนจึงลองมาทบทวนดูว่าอะไรหนอที่ทำให้ข้าราชการไทยเรามีความสามารถพิเศษอันแปลกประหลาดเช่นนี้ 

ผู้เขียนพบว่าระบบราชการไทยเรานั้นทำงานตามกฎระเบียบ (Rules base) ใครทำผิดกฎระเบียบถือว่ากระทำความผิด ส่วนจะผิดมากผิดน้อยก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าทำตามกฎระเบียบแบบเป๊ะ ๆ ละก็ รับรองว่าท่านมีเงินเดือนกินจนครบเกษียณแน่นอน แม้กระทั่งระบบการประเมินผลงานก็ถูกออกแบบมารองรับการทำตามกฎระเบียบเช่นกัน ใครทำตามระเบียบจะได้รับการประเมินในระดับดีเด่นหรือดีมากอย่างแน่นอน

ในทัศนะของผู้เขียน ระบบนี้ดีในแง่ที่ว่ามันทำให้กลไกของรัฐขับเคลื่อนไปได้เรื่อย ๆ แต่ในอีกทางหนึ่งนั้น ระบบนี้ไม่กระตุ้นให้ข้าราชการพัฒนานวัตกรรมในการทำงานสักเท่าไร เพราะเพียงแค่ทำตามกฎระเบียบซึ่งเป็นอะไรที่ทำได้ง่าย ๆ ก็ได้คะแนนเต็มแล้ว จะขวนขวายคิดอะไรไปให้เหนื่อยยาก เพราะคิดมากไปก็ไม่ทำให้ได้อะไรมากไปกว่าที่เป็นอยู่ เผลอ ๆ จะโดนเพื่อนร่วมงานรุมสกรัมเสียอีกว่าไปคิดหางานใหม่ ๆ ขึ้นมาให้พวกพ้องเหนื่อยยากทำไมกัน ของเดิม ๆ มันก็ดีอยู่แล้ว ข้าราชการส่วนมากจึงเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะมากขึ้นตามอายุราชการ และนั่นอาจเป็นที่มาของเสียงบ่นที่เข้าหูผู้เขียนอยู่บ่อย ๆ

ผู้เขียนเห็นว่าแม้ปัจจุบันข้าราชการจะไม่ได้มีบทบาทเป็นหัวหอกในการพัฒนาประเทศเหมือนอย่างในอดีต แต่เราเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในเรื่องต่าง ๆ ให้แก่ภาคเอกชนและประชาสังคมที่เขาทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศ ถ้าข้าราชการสามารถพัฒนานวัตกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนในการให้บริการแก่ประชาชนหรือการจัดทำบริการสาธารณะแล้ว ข้าราชการอย่างเรา ๆ ก็สามารถที่จะแปรสภาพจากฟันเฟืองตัวหนึ่งเป็นบูสเตอร์ของระบบได้ และจะทำให้ประเทศเราก้าวไปข้างหน้าได้เร็วขึ้นทัดเทียมกับเพื่อนบ้านที่เขาไปกันลิ่ว ๆ แล้ว

ผู้เขียนคิดว่าถ้าเราเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและการประเมินผลงานเสียใหม่ ก็น่าจะทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมในภาคราชการได้และจะส่งผลดีกับประเทศโดยรวม เช่น อาจต้องเพิ่มการประเมินเรื่องการพัฒนานวัตกรรมในการทำงานเข้าไปด้วย ใครทำตามกฎระเบียบเฉย ๆ อาจได้คะแนนเพียง 2 (จากคะแนนเต็ม 5) คือทำตามกฎระเบียบเป๊ะได้ 2 คะแนน แต่ถ้ามีบกพร่องบ้างรับไป 1 แต่ถ้าใครคิดอะไรใหม่ ๆ ได้ในการให้บริการแก่ประชาชนหรือการจัดทำบริการสาธารณะที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ เช่น สามารถลดระยะเวลาหรือลดต้นทุนให้แก่ผู้รับบริการหรือประชาชนได้ หรือลดต้นทุนในการปฏิบัติราชการได้ จะได้คะแนน 3 หรือ 4 หรือ 5 แล้วแต่ความสำคัญของนวัตกรรมนั้น และได้รับค่าตอบแทนพิเศษเพิ่มขึ้น top up จากเงินเดือนหรือเงินประจำตำแหน่ง เป็นต้น 

ในแง่การประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐก็เช่นกัน ทุกแห่งต้องมีการพัฒนานวัตกรรมในการทำงานทุกปี ไม่ใช่กี่ปีก็เหมือนเดิม ถ้าเหมือนเดิมหรือคล้าย ๆ เดิมทุกปี ไม่ต้องเสียเวลาประเมินก็ได้ เพราะไม่มีอะไรดีขึ้นแต่ต้องเสียเวลาเสียงบประมาณทำเอกสารต่าง ๆ มากมาย และผู้เขียนเห็นว่าการประเมินนวัตกรรมของหน่วยงานของรัฐนั้น ควรให้ความสำคัญกับนวัตกรรมที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณก่อน เช่น ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เป็นต้นว่าการลดระยะเวลาในการปฏิบัติงานในทุกขั้นตอนที่ต้องเร็วขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ทุกปี หรือไม่ก็ลดขั้นตอนการทำงานลงได้อย่างมาก มิฉะนั้นหลายหน่วยงานคงนำเงินงบประมาณไปใช้ในการซื้ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กันตะพึดไป

ถ้าหน่วยงานไหนไม่มีการพัฒนานวัตกรรมเลย ก็แสดงให้เห็นว่าหน่วยงานนั้นไม่มึความสามารถในการปรับตัวให้ทันกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน เรื่องที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นก็จะไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและจะเกิดปัญหาอย่างที่ปรากฏอยู่ในหลาย ๆ กรณีในปัจจุบัน

สังคายนาเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเสียทีเถิดครับ ขอเร่งด่วนก่อนเรื่องการตั้งบ่อนหรือสวนสนุกก็แล้วกัน

เราช้ากว่าเพื่อนบ้านมานานมากแล้วนะครับ.

ปกรณ์ นิลประพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น