วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แก่นรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส

เฉพาะประเด็นการเลือกตั้งและสถาบันทางการเมือง การถ่วงดุลอำนาจและองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมของประชาชนและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และการจัดทำประชามติ
นายจุมพล  ศรีจงศิริกุล[1]
นายวรพล ชินเพชร[2]
นางสาวอนัญ  ยศสุนทร[3]
นางสาวกฤตติกา  ยุวนะเตมีย์[4] 


การเลือกตั้ง / สถาบันทางการเมือง


(๑) ระบบการเลือกตั้ง

บทบัญญัติมาตรา ๓ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๕๘ กำหนดให้การลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนของปวงชน จะจัดให้มีการลงคะแนนเสียงโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้  ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา ๓ วรรคสี่ กำหนดให้การลงคะแนนจะต้องเป็นการทั่วไป (universel) เป็นกลาง (égal) และลับ (secret)  สำหรับเงื่อนไขเกี่ยวกับประชาชนผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นไปตามที่กำหนดในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ปัจจุบันในประเทศฝรั่งเศส การเลือกตั้งประธานาธิบดี (Le Président de la République) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Les députés) ผู้แทนฝรั่งเศสประจำรัฐสภายุโรป (Les représentants de la France au Parlement européen) และผู้แทนท้องถิ่น (Les élus locaux) จะเป็นการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งรวมถึงการออกเสียงประชามติ (Le référendum) ขณะที่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (Les sénateurs) จะเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม
ในอดีต หลังการปฏิวัติฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ การเลือกตั้งในสมัยนั้นยังไม่มีลักษณะเป็นการเลือกตั้งทั่วไป กล่าวคือ เฉพาะบุคคลที่มีอายุและจ่ายภาษีตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นที่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๗๙๓ ได้กำหนดให้พลเมืองชายทุกคนที่อายุถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด(โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องการจ่ายภาษี)มีสิทธิเลือกตั้ง  อย่างไรก็ดี ได้เกิดวิกฤติทางการเมืองในขณะนั้นทำให้ไม่มีการบังคับใช้รัฐธรรมนูญดังกล่าว  นอกจากนี้ การเลือกตั้งในสมัยนั้นเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมยังมิใช่การเลือกตั้งโดยตรงดังเช่นในปัจจุบัน  ต่อมา สิทธิเลือกตั้งเป็นการทั่วไปได้รับการรับรองอีกครั้งในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๘๔๘ (สาธารณรัฐที่ ๒) และคงใช้บังคับหลักการดังกล่าวต่อเรื่อยมาจนกระทั่งปัจจุบัน

(๒) นายกรัฐมนตรี
คำว่า นายกรัฐมนตรี (Premier ministre) เป็นคำที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ โดยในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ จะใช้คำอื่น เช่น ในรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๔๖ ใช้คำว่า ประธานคณะรัฐมนตรี (Président du Conseil des ministres) ซึ่งเป็นคำที่ใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. ๑๘๑๕ หรือคำว่า หัวหน้ารัฐบาล (Chef du gouvernement)  ทั้งนี้ รูปแบบการปกครองของฝรั่งเศสตามรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ เป็นระบบกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะของประเทศฝรั่งเศส กล่าวคือ ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจทางบริหารร่วมกันในการบริหารประเทศ
มาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ บัญญัติให้ ประธานาธิบดีเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี รวมถึงให้ความเห็นชอบในการลาออกของนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องคุณสมบัติหรือเงื่อนไขไว้  ดังนั้น ประธานาธิบดีจึงมีอิสระในการแต่งตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากบุคคลใดก็ได้ โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่เป็นสมาชิกรัฐสภาเท่านั้น และอาจแต่งตั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองใดก็ได้[5] เพียงแต่ในการเสนอแต่งตั้งผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา  ทั้งนี้ เนื่องจากในขณะยกร่างรัฐธรรมนูญมีแนวคิดว่า รัฐบาลมีหน้าที่ในการดูแลประโยชน์สาธารณะโดยรวม ขณะที่ผู้ได้รับเลือกตั้งย่อมคำนึงถึงประโยชน์ต่อพรรคการเมืองและประชาชนที่เลือกตนเข้ามารวมถึงพื้นที่ซึ่งตนเป็นผู้แทนเป็นหลัก อันเป็นหลักการที่แตกต่างตรงข้ามกัน และนำมาสู่แนวคิดที่ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลในขณะเดียวกันไม่ได้
๒.๑ อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี
- นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และเป็นผู้กำกับดูแลและประสานรัฐมนตรีในการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและการบังคับใช้กฎหมาย (มาตรา ๒๑ ของรัฐธรรมนูญฯ)
- นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอความเห็นต่อประธานาธิบดีในการแต่งตั้งรัฐมนตรีและการให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา ๘ ของรัฐธรรมนูญฯ) เสนอยุบสภา (มาตรา ๑๒ ของรัฐธรรมนูญฯ) และเสนอให้มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญ (มาตรา ๒๙ ของรัฐธรรมนูญฯ)
- นายกรัฐมนตรีอาจร้องขอต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของข้อตกลงระหว่างประเทศ (มาตรา ๕๔ ของรัฐธรรมนูญฯ) และของร่างรัฐบัญญัติ (มาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญฯ)
๒.๒ ความรับผิดทางการเมืองของรัฐบาล
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องความรับผิดทางการเมืองของรัฐบาลไว้โดยบทบัญญัติ ดังต่อไปนี้
มาตรา ๒๐ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาภายใต้เงื่อนไขและกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญฯ
ทั้งนี้ มาตรา ๔๙ ของรัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดความรับผิดของรัฐบาลไว้ ๓ กรณี คือ
๑) การแถลงนโยบายของรัฐบาล
ภายหลังจากมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว นายกรัฐมนตรีจะเสนอนโยบายของรัฐบาลและข้อผูกพันความรับผิดชอบของรัฐบาลต่อนโยบายดังกล่าว โดยเปิดให้มีการอภิปรายและลงมติ หากรัฐบาลไม่ได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
๒) ความรับผิดชอบต่อการเสนอร่างกฎหมาย (Responsabilité sur le vote d’un texte)
รัฐบาลจะต้องผูกพันความรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในการเสนอ
ร่างกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายงบประมาณ
(Loi de finances) และกฎหมายงบประมาณ
ด้านสวัสดิการสังคม
(Loi de financement de la Sécurité sociale)  หากสภาผู้แทนราษฎร
ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายของรัฐบาลสามารถดำเนินการได้ ๒ กรณี คือ
- ยื่นเสนอญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือ
- พิจารณาไม่ให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของรัฐบาล โดยมีผลให้
ร่างกฎหมายนั้นตกไป และรัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก
๓) การอภิปรายไม่ไว้วางใจ (La motion de censure)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งในสิบของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อาจยื่นเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งสามารถลงชื่อร่วมยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ไม่เกินสามครั้งต่อการประชุมสมัยสามัญ
แต่ละครั้ง หรือยื่นได้หนึ่งครั้งต่อการประชุมสมัยวิสามัญหนึ่งสมัย) ซึ่งรัฐบาลจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดในสภา
ทั้งนี้ มาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติให้ นายกรัฐมนตรี
และคณะรัฐมนตรีต้องลาออก ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือกรณีที่
สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ให้ความเห็นชอบกับคำแถลงนโยบายของรัฐบาล
นอกจากนี้ กรณีความรับผิดทางอาญาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี
หากเป็นความผิดที่เกิดจากการปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในขณะดำรงตำแหน่ง ให้ศาลยุติธรรม
แห่งสาธารณรัฐ
(La Cour de justice de la République) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๖ คน และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๖ คน ที่ได้รับการคัดเลือกจากรัฐสภา
และผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน ๓ คน เป็นผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าว

(๓) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๓.๑ การจัดให้มีการเลือกตั้ง
(๑) การเลือกตั้งทั่วไป
การเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ทั้งสภา โดยมาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้บัญญัติให้วาระการดำรงตำแหน่งและจำนวนของสมาชิกแต่ละสภา รวมถึงเงื่อนไขอื่น ๆ เป็นไปตามที่รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๕๗๗ คน[6] อันเป็นจำนวนมากที่สุดจะมีสมาชิกผู้แทนราษฎรได้ตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญฯ และมีวาระการดำรงตำแหน่งห้าปี[7] ซึ่งเมื่อครบกำหนดวาระดังกล่าวถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น โดยในกรณีที่ไม่ได้มีการยุบสภาจะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปภายในหกสิบวันนับแต่วันที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหมดวาระ[8] แต่ถ้าเป็นกรณีการเลือกตั้งภายหลังการยุบสภาจะต้องดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างเร็วยี่สิบวันหรืออย่างช้าไม่เกินสี่สิบหลังจากมีการยุบสภา[9]
(๒) การเลือกตั้งซ่อม
การเลือกตั้งซ่อมเป็นกรณีที่การดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยังไม่หมดวาระ แต่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อหาบุคคลแทนตำแหน่งที่ว่างลงไม่ว่าด้วยเหตุใด  ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ ได้วางระบบการแทนที่อัตโนมัติโดยผู้แทนสำรอง เช่น กรณีสมาชิกรัฐสภาเสียชีวิตขณะดำรงตำแหน่งอยู่ในวาระ หรือกรณีที่สมาชิกปฏิบัติการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงตำแหน่ง ให้ผู้แทนสำรองซึ่งได้รับการเลือกตั้งในเวลาเดียวกับสมาชิกรัฐสภาผู้เสียชีวิตหรือผู้ซึ่งปฏิบัติการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงตำแหน่งเข้าดำรงตำแหน่งแทนโดยไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมแต่อย่างใด โดยให้ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน ซึ่งหมายความว่าอยู่ในตำแหน่งจนสิ้นวาระปกติจนถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งถัดไป
อย่างไรก็ตาม กฎหมายกำหนดให้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมในกรณีดังต่อไปนี้
- การเพิกถอนการเลือกตั้งโดยคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ
- การลาออกของสมาชิก
- กรณีที่ไม่มีผู้แทนสำรอง เนื่องจากผู้แทนสำรองเสียชีวิตหรือเหตุอื่น
- การลาออกของผู้แทนสำรอง
ในกรณีตามที่ปรากฏข้างต้น ให้จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมภายในเวลาสามเดือนนับแต่วันที่มีตำแหน่งว่างลง  อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่เหลือระยะเวลาไม่เกินสิบสองเดือนก่อนวาระการดำรงตำแหน่งทั่วไปสิ้นสุดลง ไม่ต้องจัดให้มีการเลือกตั้งซ่อมแต่อย่างใด[10]
๓.๒ การลงคะแนนเสียง
รูปแบบการลงคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศฝรั่งเศสไม่ได้กำหนดโดยรัฐธรรมนูญหรือรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่กำหนดโดยรัฐบัญญัติธรรมดาเท่านั้น  ทั้งนี้ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขได้โดยง่าย โดยตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ สาธารณรัฐที่ ๕ ค.ศ. ๑๙๕๘ มีการใช้รูปแบบการลงคะแนนเสียงเพียงสองแบบ คือ การลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนหนึ่งคนต่อหนึ่งเขตพื้นที่ (เขตเดียวเบอร์เดียว) และการลงคะแนนเสียงข้างมาก โดยในฝรั่งเศสใช้ทั้งสองรูปแบบควบคู่กันไป กล่าวคือ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะมีการกำหนดหนึ่งเขตพื้นที่ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคน โดยในการลงคะแนนเสียง ให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดเกินกว่ากึ่งหนึ่งในการลงคะแนนเสียงรอบแรกเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง แต่ถ้าไม่มีผู้สมัครใดได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ให้มีการลงคะแนนเสียงในรอบที่สองเฉพาะผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงจำนวนตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ และให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการลงคะแนนเสียงรอบที่สองเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง
(๑) การลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนหนึ่งคนต่อหนึ่งเขตพื้นที่
ในระบบนี้ในแต่ละเขตพื้นที่จะมีผู้แทนได้เพียงหนึ่งคนเท่านั้น  อย่างไรก็ตาม ในบัตรลงคะแนนจะต้องประกอบด้วยรายชื่อผู้สมัครอย่างน้อยสองคนขึ้นไปเสมอ เนื่องจากมาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนมีผู้แทนสำรองซึ่งได้รับเลือกตั้งในเวลาเดียวกัน และสามารถดำรงตำแหน่งแทนได้ในกรณีที่ตำแหน่งว่างลงตามที่กฎหมายกำหนด
การลงคะแนนเสียงเลือกผู้แทนในระบบหนึ่งเขตพื้นที่ต่อผู้แทนหนึ่งคนนั้นทำให้ต้องมีการกำหนดเขตเลือกตั้งเป็นจำนวนมากและแต่ละเขตเลือกตั้งจะมีเขตพื้นที่ไม่ใหญ่โตมากนัก ตัวอย่างกรณีประเทศฝรั่งเศสซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ ๕๗๗ คน ก็จะต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งพื้นที่ทั่วประเทศให้ได้ ๕๗๗ เขตเลือกตั้ง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกรณีการใช้รูปแบบการเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อและใช้คะแนนเสียงแบบสัดส่วนอาจจะทำให้มีเขตเลือกตั้งไม่ถึงหนึ่งร้อยเขตเลือกตั้ง  อนึ่ง ในมุมมองทางด้านสังคมวิทยา การกำหนดเขตเลือกตั้งให้เล็กมีข้อดี คือ ทำให้ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งและองค์กรที่จัดการการเลือกตั้งมีการติดต่อประสานงานซึ่งกันและกัน
(๒) การลงคะแนนเสียงข้างมาก
ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งตั้งแต่การลงคะแนนเสียงในรอบแรก ได้แก่ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้ที่มาใช้สิทธิลงคะแนน และคะแนนเสียงดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ที่ลงทะเบียนในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง (Electeurs inscrits)[11]
สำหรับกรณีที่ไม่มีผู้สมัครผู้ใดได้คะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งในการลงคะแนนเสียงรอบแรก ให้จัดให้มีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในรอบที่สองในวันอาทิตย์ถัดไปจากการลงคะแนนเสียงในรอบแรก  ทั้งนี้ ผู้สมัครที่จะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อในการลงคะแนนเสียงรอบที่สองจะต้องเป็นผู้สมัครที่ได้รับการเสนอชื่อในการลงคะแนนเสียงรอบแรกมาแล้ว และจะต้องได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อยร้อยละ ๑๒.๕ ในการลงคะแนนเสียงรอบแรก
อนึ่ง มาตรา L162 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี คือ
- กรณีที่มีผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ ๑๒.๕ ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่สองเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อสำหรับการลงคะแนนเสียงในรอบที่สองร่วมกับผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงสูงสุด
- กรณีที่ไม่มีผู้สมัครคนใดได้รับคะแนนเสียงถึงร้อยละ ๑๒.๕ ให้ผู้สมัครที่ได้คะแนนเสียงสูงสุดในการลงคะแนนเสียงรอบแรกจำนวนสองคนเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อสำหรับการลงคะแนนเสียงในรอบที่สอง

(๔) สมาชิกวุฒิสภา
มาตรา ๒๔ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ บัญญัติว่า รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา  ทั้งนี้ สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยอ้อม
๔.๑ ความเป็นมา
วุฒิสภาแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมีจุดกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๗๙๕ ภายหลังมีการปฏิวัติฝรั่งเศส โดยตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการใช้ชื่อเรียก เช่น สภาเก่า (Conseil des Anciens) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๙๕ ถึง ค.ศ. ๑๗๙๙ สภากงสุลแห่งจักรวรรดิ (Consulat de l’Empire) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๙๙ ถึง ค.ศ. ๑๘๑๔ สภาคู่ (Chambre des pairs) ช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๑๔ ถึง ค.ศ. ๑๘๔๘ และมีการใช้ชื่อเรียกว่า วุฒิสภา ครั้งแรกในช่วงระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๕๑ ถึง ค.ศ. ๑๘๗๐ ในสมัยจักรวรรดิที่สอง (le Second Empire) และยังคงใช้ชื่อเรียกว่า วุฒิสภา เช่นกันในสมัยสาธารณรัฐที่ ๓ (ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๗๕ ถึง ค.ศ. ๑๙๔๐)  ทั้งนี้ ได้มีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเรื่องรูปแบบและโครงสร้างของระบบวุฒิสภาอยู่ ๒ ครั้ง ได้แก่
๑) ความพยายามของสภาผู้แทนราษฎรโดยการรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้ใช้ระบบสภาเดียว แต่ความพยายามดังกล่าวประสบความล้มเหลว เนื่องจากได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวให้กับประชาชนชาวฝรั่งเศสลงประชามติ เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ซึ่งประชาชนชาวฝรั่งเศสได้ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่งทำให้เห็นว่าการขาดวุฒิสภาในการกลั่นกรองการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรยังไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จากเหตุผลดังกล่าว ต่อมาจึงได้มีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญซึ่งใช้ระบบสภาคู่ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งต่อมาได้รับการประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ ๔ ค.ศ. ๑๙๔๖ โดยรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้กำหนดเรียกสภาสูงอย่างเป็นทางการว่า สภาแห่งสาธารณรัฐ (Conseil de la République)[12]
๒) รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ ๕ ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบันได้กลับมาใช้คำว่า วุฒิสภา ในการเรียกสภาสูงเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ ๓ แต่ในปี ค.ศ. ๑๙๖๙ ประธานาธิบดี ชาร์ล เดอ โกล (Charles De Gaulle) ได้เสนอร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนลงประชามติในเรื่องการปฏิรูปวุฒิสภา โดยกำหนดให้วุฒิสภาเป็นตัวแทนไม่เฉพาะแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหมือนแต่เดิมมาเท่านั้น แต่ให้เป็นตัวแทนขององค์กรทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย โดยเท่ากับว่าเป็นการรวมกันของสององค์กรคือวุฒิสภาและสภาเศรษฐกิจและสังคม  อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ได้รับการเห็นชอบในการลงประชามติจากประชาชนชาวฝรั่งเศสแต่อย่างใด จึงทำให้ความคิดในการปฏิรูประบบวุฒิสภาดังกล่าวตกไป
๔.๒ องค์ประกอบและวาระการดำรงตำแหน่ง
จำนวนของวุฒิสมาชิกกำหนดโดยรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (loi organique) เช่นเดียวกับจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา ๒๕ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ โดยปัจจุบันมีจำนวนวุฒิสมาชิก ๓๒๖ คน[13]  อย่างไรก็ตาม การจัดสรรจำนวนที่นั่งของวุฒิสมาชิกในแต่ละพื้นที่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติ (loi ordinaire) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
แต่เดิมในประเทศฝรั่งเศส วุฒิสมาชิกมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละเก้าปี[14] และจะมีการเลือกตั้งใหม่เป็นจำนวนหนึ่งในสามของจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมดทุกสามปี แต่จากการปรับเปลี่ยนวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีฝรั่งเศสจากเดิมเจ็ดปีลดลงมาเหลือห้าปี ทำให้วาระการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิกดูยาวนานเกินไปกว่าที่ควรจะเป็น  นอกจากนี้ ในประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป ก็ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาของประเทศใดที่มีวาระการดำรงตำแหน่งนานเกินกว่าหกปี จากเหตุผลดังกล่าวจึงได้มีการตรารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ โดยกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกวุฒิสภาใหม่เป็นหกปี และให้มีการเลือกตั้งใหม่เป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนวุฒิสมาชิกทั้งหมดทุกสามปี
สำหรับหลักเกณฑ์ในเรื่องคุณสมบัติของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเป็นวุฒิสมาชิกนั้น การแก้ไขกฎหมายในปี ค.ศ. ๒๐๑๑ กำหนดให้ผู้สมัครต้องมีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบสี่ปีบริบูรณ์ โดยก่อนการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๑ คุณสมบัติในเรื่องอายุขั้นต่ำของผู้ที่จะเป็นวุฒิสมาชิกคือสามสิบปี และสามสิบห้าปีก่อนการแก้ไขกฎหมายเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๓
๔.๓ ระบบการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งวุฒิสมาชิกในประเทศฝรั่งเศสเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม กล่าวคือ เป็นการเลือกตั้งผ่านทางสมาชิกและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งได้รับการเลือกตั้งโดยประชาชน  ทั้งนี้ ให้มีวุฒิสมาชิกจำนวนสิบสองคนเป็นผู้แทนของประชาชนชาวฝรั่งเศสซึ่งพำนักอาศัยอยู่ภายนอกประเทศฝรั่งเศส โดยสภาของชาวฝรั่งเศส ณ ต่างประเทศ (Conseil supérieur des Français à l’étranger) เป็นผู้เลือก ซึ่งสมาชิกของสภาดังกล่าวได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากชาวฝรั่งเศสซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในต่างประเทศ และได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสถานกงสุลฝรั่งเศสประจำประเทศที่ตนเองพำนักอาศัย
๔.๔ เขตเลือกตั้ง
ให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งวุฒิสมาชิก สำหรับระบบการนับคะแนนจะแตกต่างกันไปตามจำนวนวุฒิสมาชิกที่มีได้ในแต่ละเขตเลือกตั้ง
กฎหมายที่ได้แก้ไขล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๑๓ ได้กำหนดให้มีการนับคะแนนโดยใช้ระบบสัดส่วนในเขตจังหวัดที่สามารถมีวุฒิสมาชิกได้ตั้งแต่สามคนขึ้นไป[15] สำหรับในเขตจังหวัดที่มีสมาชิกวุฒิสภาได้จำนวนสองคนลงมา ให้ใช้การนับคะแนนเสียงข้างมากสองรอบ โดยผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งตั้งแต่การลงคะแนนเสียงในรอบแรก ได้แก่ ผู้สมัครที่ได้รับคะแนนเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่ง และคะแนนเสียงดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของผู้ที่ลงทะเบียนในการใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สำหรับการลงคะแนนในรอบที่สอง ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง  ทั้งนี้ หากมีผู้ที่ได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดเท่ากัน ให้ผู้สมัครที่มีอายุมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง[16]
๔.๕ อำนาจหน้าที่
วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติที่รัฐบาลเสนอผ่านสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และกรณีที่วุฒิสภาเป็นผู้เสนอร่างรัฐบัญญัติต่อรัฐสภาเอง  นอกจากนี้ หากเป็นร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวก่อนสภาผู้แทนราษฎร  ทั้งนี้ เนื่องจากในประเทศฝรั่งเศสถือว่าสมาชิกวุฒิสภาเป็นตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากอำนาจหน้าที่ด้านนิติบัญญัติแล้ว วุฒิสภายังมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับการดำเนินงานของรัฐบาล โดยการตั้งกระทู้ถาม หรือตั้งคณะกรรมการเฉพาะขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้  อย่างไรก็ดี วุฒิสภาอยู่นอกเหนือความรับผิดในเชิงถ่วงดุลกับรัฐบาล เนื่องจากวุฒิสภาไม่สามารถถูกเสนอให้มีการยุบได้เช่นเดียวกับสภาผู้แทนราษฎร
นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภายังมีบทบาทหน้าที่ในเรื่องอื่น ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดไว้ เช่น วุฒิสมาชิกจำนวน ๖๐ คน ขึ้นไป สามารถร่วมกันลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ร่วมเป็นองค์คณะในการพิจารณาความผิดทางอาญาของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี[17] รวมถึงพิจารณาถอดถอนประธานาธิบดีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร


การถ่วงดุลอำนาจ / องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ


(๑) ความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา
รัฐธรรมนูญฯ ได้กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในลักษณะการตรวจสอบถ่วงดุลควบคุมการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน โดยบัญญัติเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภา ไว้ใน Titre 5 โดยอาจจำแนกความสัมพันธ์ดังกล่าวได้ออกเป็น ๒ ลักษณะ คือ (๑) ความสัมพันธ์ที่เกี่ยวกับกระบวนการนิติบัญญัติ ที่แม้ว่าจะเป็นบทบาทหน้าที่หลักของฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าฝ่ายบริหารก็ได้เข้าไปมีบทบาทในเชิง active ที่สำคัญในการเสนอร่างกฎหมาย และ (๒) ความสัมพันธ์ด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลโดยรัฐสภา ที่รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจรัฐสภาในการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ซึ่งจะเป็นประเด็นหลักในการศึกษานี้

บทบัญญัติ

Article 20  Le Gouvernement détermine et conduit la politique de la Nation.
Il dispose de l'administration et de la force armée.
Il est responsable devant le Parlement dans les conditions et suivant les procédures prévues aux articles 49 et 50.

มาตรา ๒๐ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ เป็นบทบัญญัติหลักที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีรับผิดชอบต่อรัฐสภา ภายใต้เงื่อนไขและกระบวนการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐

Article 49  Le Premier ministre, après délibération du Conseil des ministres, engage devant l'Assemblée nationale la responsabilité du Gouvernement sur son programme ou éventuellement sur une déclaration de politique générale.
L'Assemblée nationale met en cause la responsabilité du Gouvernement par le vote d'une motion de censure. Une telle motion n'est recevable que si elle est signée par un dixième au moins des membres de l'Assemblée nationale. Le vote ne peut avoir lieu que quarante-huit heures après son dépôt. Seuls sont recensés les votes favorables à la motion de censure qui ne peut être adoptée qu'à la majorité des membres composant l'Assemblée. Sauf dans le cas prévu à l'alinéa ci-dessous, un député ne peut être signataire de plus de trois motions de censure au cours d'une même session ordinaire et de plus d'une au cours d'une même session extraordinaire.
Le Premier ministre peut, après délibération du Conseil des ministres, engager la responsabilité du Gouvernement devant l'Assemblée nationale sur le vote d'un projet de loi de finances ou de financement de la sécurité sociale. Dans ce cas, ce projet est considéré comme adopté, sauf si une motion de censure, déposée dans les vingt-quatre heures qui suivent, est votée dans les conditions prévues à l'alinéa précédent. Le Premier ministre peut, en outre, recourir à cette procédure pour un autre projet ou une proposition de loi par session.
Le Premier ministre a la faculté de demander au Sénat l'approbation d'une déclaration de politique générale.

มาตรา ๔๙  ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๘ ได้จำแนกรูปแบบ  เงื่อนไขและกระบวนการควบคุมรัฐบาลโดยรัฐสภา ออกเป็นดังนี้
(๑) La question de confiance (มาตรา ๔๙ วรรคแรก)
ผู้ริเริ่ม : นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อของผูกพันความรับผิดชอบของรัฐบาลในแผนงาน (un programme) หรือนโยบายทางการเมืองทั่วไป (une declaration de politique générale) ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดของรัฐบาลก็ได้
                        การแถลงของนายกรัฐมนตรีดังกล่าว อาจพิจารณาได้ว่าเป็นการแสดงออกซึ่งเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีต่อรัฐบาล เป็นการตรวจสอบว่ารัฐบาลนี้ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเสียงสะท้อนของประชาชน ในการให้บริหารราชการแผ่นดินอยู่ไปหรือไม่
                        โดยที่รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดรูปแบบ หรือเนื้อหาว่าจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ซึ่งกรณีที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสได้แถลงนโยบายในเรื่องสำคัญ เช่น นโยบายเรื่องสงครามอ่าว นโยบายด้านพลังงาน เป็นต้น โดยที่ผลของการแถลงนั้น ต้องได้รับเสียงข้างมากสนับสนุน หากมีเสียงคัดค้านของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากกว่ากึ่งหนึ่ง ผลก็ย่อมเป็นไปตามมาตรา ๕๐

          (๒) La motion de censure (มาตรา ๔๑ วรรคสอง)
     ผู้ริเริ่ม : การยื่นญัติติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ เสนอโดย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวนไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๑๐ ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนฯ (๕๘ ราย จากจำนวนสมาชิกทั้งหมด ๕๗๗ ราย)
     การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนี้เป็นการให้อำนาจแก่สภาผู้แทนราษฎรในการบังคับให้คณะรัฐมนตรีต้องลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีนั้นจะต้องได้รับความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรในฐานะที่เป็นผู้แทนของประชาชน
     เงื่อนไข : (๑) เงื่อนไขของการยื่นญัตติ โดยมีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่าสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละคนอาจลงชื่อในญัตติเสนอขอเปิดอภิปรายฯ ได้ต้องไม่เกิน ๓ ครั้งในหนึ่งสมัยประชุมสามัญ และต้องไม่เกิน ๑ ครั้งในสมัยประชุมวิสามัญ
                   (๒) เงื่อนไขของกรอบเวลา เมื่อได้มีการยื่นมติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐบาลมีเวลา ๔๘ ชั่วโมงในการตระเตรียม ก่อนที่จะอภิปรายและลงมติ 
          (๓) La responsabilite sur le vote d’un texte (มาตรา ๔๑ วรรคสาม)
                        ผู้ริเริ่ม : นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
                        เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีให้มีความรับผิดชอบในการประกาศภาวะความจำเป็นในกระบวนการนิติบัญญัติ  การที่มีบทบัญญัติในลักษณะนี้จะเป็นการกำหนดให้รัฐบาลมีเครื่องมือในการออกกฎหมายเพื่อรองรับนโยบายที่ได้มีการแถลงไว้ โดยการรับรองอำนาจของฝ่ายบริหาร ได้แก่ นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แถลงต่อสภาที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งอยู่ว่า รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎหมายในลักษณะดังกล่าว หรือจะต้องมีเนื้อความในกฎหมายที่สภากำลังพิจารณาอยู่นั้น เป็นไปตามร่างฯ ที่รัฐบาลได้เสนอไว้ เพื่อตอบสนองการปฏิบัติตามนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดหัวข้อกฎหมายไว้ คือ
                        เงื่อนไข :   (๑) ประเภทของร่างกฎหมาย จะต้องเป็นร่างกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปี ร่างกฎหมายว่าด้วยงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม หรือร่างกฎหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญโดยจำกัดจำนวนไว้หนึ่งฉบับต่อสมัยประชุม
                                      (๒) เงื่อนไขในการรับรองร่าง การที่นายกรัฐมนตรีประกาศภาวะความจำเป็นทางนิติบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรขณะที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายอยู่ ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมจะส่งผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะต้องลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างกฎหมายนั้นทั้งฉบับตามที่นายกรัฐมนตรีแถลง โดยไม่มีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมหรือตัดทอนถ้อยคำ และเป็นการลงมติเพียงครั้งเดียวในร่างกฎหมายนั้น ๆ ของสภาแห่งนั้น
                        ผล : รัฐบาลสามารถเร่งรัดกระบวนการตรากฎหมายตลอดทั้งสามารถควบคุมเนื้อหาของกฎหมายที่เป็นเรื่องสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล ให้สามารถตราเป็นกฎหมายขึ้นใช้บังคับได้โดยรวดเร็วโดยการลงมติเพียงครั้งเดียวของสภาผู้แทนราษฎร โดยถือว่าร่างกฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบ (adopter) จากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว โดยไม่ต้องลงมติในร่างกฎหมายนั้นอีก แต่หากรัฐบาลแพ้มติในร่างกฎหมายที่นายกรัฐมนตรีได้ขอแถลงภาวะความจำเป็นใน ทางนิติบัญญัติผูกพันความรับผิดชอบของรัฐบาลไว้นั้น ย่อมมีผลโดยตรงต่อปัญหาความรับผิดชอบในการเมืองของรัฐบาลด้วย
          (๔) La déclaration au Sénat (มาตรา ๔๙ วรรคสี่)
                        ผู้ริเริ่ม : นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี
                        เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในการแถลงนโยบายทางการเมืองต่อหน้าสมาชิกวุฒิสภา
                        เงื่อนไข : ไม่มีเงื่อนไขที่จะบังคับให้สมาชิกวุฒิสภาออกเสียงลงคะแนนรับรองแต่อย่างใด  อย่างไรก็ตาม หากจัดให้มีการลงคะแนน และนโยบายนั้นไม่ได้รับเสียงข้างมากจากสมาชิกวุฒิสภาสนับสนุน ก็ไม่กระทบต่อความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล ไม่ส่งผลให้รัฐบาลต้องลาออกแต่อย่างใด แต่ถึงกระนั้น การไม่ได้รับเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนก็อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลได้เช่นกัน

Article 50  Lorsque l'Assemblée nationale adopte une motion de censure ou lorsqu'elle désapprouve le programme ou une déclaration de politique générale du Gouvernement, le Premier ministre doit remettre au Président de la République la démission du Gouvernement.

                   มาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นบท Sanction ที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบทางการเมืองของฝ่ายบริหาร (รัฐบาล)  กรณีที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งในการลงมติไม่รับรองในแผนงาน (un programme) หรือนโยบายทางการเมืองทั่วไป (une declaration de politique générale) ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรนั้น ย่อมส่งผลให้นายกรัฐมนตรีซึ่งรวมถึงคณะรัฐมนตรีต้องลาออก

Article 50-1  Devant l'une ou l'autre des assemblées, le Gouvernement peut, de sa propre initiative ou à la demande d'un groupe parlementaire au sens de l'article 51-1, faire, sur un sujet déterminé, une déclaration qui donne lieu à débat et peut, s'il le décide, faire l'objet d'un vote sans engager sa responsabilité.

                   มาตรา ๕๐-๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๘ กำหนดให้สมาชิกรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ร้องขอให้เปิดการอภิปรายในประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจที่อาจเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ได้  ซึ่งอาจพิจารณาได้ว่า เป็นเครื่องมือทางการเมืองของรัฐบาลนอกจากนี้ มาตราดังกล่าวก็ยังให้รัฐบาลใช้ช่องทางนี้ในการแถลง และเปิดโอกาสให้สมาชิก
ได้อภิปราย
เช่นกัน และอาจเปิดให้มีการลงมติด้วยก็ได้  อย่างไรก็ตาม ผลของการลงมติตามมาตรานี้ ไม่มีผลผูกพันต่อความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล
                        ผู้ริเริ่ม : รัฐบาล กลุ่มสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกลุ่มสมาชิกวุฒิสภา
                        เงื่อนไข : เป็นการแถลง และอภิปราย โดยอาจให้มีการลงมติด้วยก็ได้
                        ผล : ไม่มีผลผูกพันต่อความรับผิดชอบทางการเมืองของรัฐบาล

(๒). การจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ : ศึกษาองค์กรผู้พิทักษ์สิทธิ (Défenseur des droits)
                   การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ได้มีการบัญญัติเพื่อรับรองหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ โดยเพิ่มเป็นหมวด ๑๑ ทวิ ว่าด้วยผู้พิทักษ์สิทธิ
โดยเพิ่มบทบัญญัติมาตรา ๗๑-๑ ในรัฐธรรมนูญฯ กำหนดให้ผู้พิทักษ์สิทธิมีหน้าที่สอดส่องดูแลการดำเนินการของฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การมหาชน หรือทุกหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริการสาธารณะ เพื่อมิให้กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพ

Article 71-1  Le Défenseur des droits veille au respect des droits et libertés par les administrations de l'État, les collectivités territoriales, les établissements publics, ainsi que par tout organisme investi d'une mission de service public, ou à l'égard duquel la loi organique lui attribue des compétences.
Il peut être saisi, dans les conditions prévues par la loi organique, par toute personne s'estimant lésée par le fonctionnement d'un service public ou d'un organisme visé au premier alinéa. Il peut se saisir d'office.
La loi organique définit les attributions et les modalités d'intervention du Défenseur des droits. Elle détermine les conditions dans lesquelles il peut être assisté par un collège pour l'exercice de certaines de ses attributions.
Le Défenseur des droits est nommé par le Président de la République pour un mandat de six ans non renouvelable, après application de la procédure prévue au dernier alinéa de l'article 13. Ses fonctions sont incompatibles avec celles de membre du Gouvernement et de membre du Parlement. Les autres incompatibilités sont fixées par la loi organique.
Le Défenseur des droits rend compte de son activité au Président de la République et au Parlement.

                   มาตราดังกล่าวนี้บัญญัติให้มีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่จะกำหนดเงื่อนไข อำนาจหน้าที่ และกระบวนการร้องเรียนผู้พิทักษ์สิทธิ
                   การได้มาซึ่งผู้พิทักษ์สิทธิ จะได้รับการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี ซึ่งการแต่งตั้งดังกล่าวนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในวรรคท้ายของมาตรา ๑๓ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจในการแต่งตั้งของประธานาธิบดี โดยคณะกรรมาธิการสามัญที่มีอำนาจหน้าที่ (la commission permanente compétente de chaque assemblée) ของทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งกระบวนการแต่งตั้งโดยประธานาธิบดีที่ต้องผ่านการลงมติของคณะกรรมาธิการสามัญนี้ ประธานาธิบดีจะแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งผู้พิทักษ์สิทธิ เมื่อบุคคลนั้นได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่า สาม ใน ห้า ของเสียงทั้งหมดในแต่ละคณะกรรมาธิการสามัญของแต่ละสภา 
วาระการดำรงตำแหน่ง ผู้พิทักษ์สิทธิมีวาระการดำรงตำแหน่งหกปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว  ซึ่งเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ในการแต่งตั้งรัฐธรรมนูญกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ต่อมาได้มีการตรา LOI organique n° 2011-333 du 29 mars 2011 relative au Défenseur des droits
อำนาจหน้าที่ จะเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ


การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ


(๑) การมีส่วนร่วมของประชาชน
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ห้ากำหนดกลไกใดบ้างที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมโดยตรงในการปกครอง
- มาตรา 11 มีการกำหนดเรื่องประชามติไว้ (ดูเรื่องประชามติ)
- นอกจากนี้ ตั้งแต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้เพิ่มมาตรา 72-1 ซึ่งกำหนดกลไกต่างๆ ที่ให้ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกันเข้าชื่อเสนอเรื่องให้สภาท้องถิ่นพิจารณาหรือการกำหนดให้ทำประชามติระดับท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ การจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษหรือปรับเปลี่ยนโครงสร้างของการปกครองส่วนท้องถิ่นต้องได้รับความเห็นชอบของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในท้องถิ่นนั้นด้วยเช่นกัน

(๒) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ :
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐที่ห้ากำหนดเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ในหมวด 16 ว่าด้วย การแก้ไขเพิ่มเติม (De la Révision) ซึ่งประกอบด้วยมาตรา 89 เพียงมาตราเดียว อย่างไรก็ดี ในทางปฏิบัติ นายพลเดอโกลเคยใช้มาตรา 11 ในการเสนอให้มีการจัดทำประชามติเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน
(๑) ผู้มีอำนาจในการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ?
มาตรา 89 กำหนดให้ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจในการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยประธานาธิบดีตามข้อเสนอของนายกรัฐมนตรี หรือสมาชิกรัฐสภา มีอำนาจในการเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
(๒) - กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
          เมื่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาให้ความเห็นชอบกับร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว ต้องมีการขอความเห็นชอบจากประชาชนด้วยวิธีลงประชามติ อย่างไรก็ดี หากเป็นร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญซึ่งเสนอโดยฝ่ายบริหาร ประธานาธิบดีอาจพิจารณาเสนอต่อที่ประชุมร่วมของรัฐสภาโดยต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบอย่างน้อยสามในห้าของที่ประชุม
(๓) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจนถึงปัจจุบัน


วันเดือนปีของการแก้ไขเพิ่มเติม
ประเด็นในการแก้ไขเพิ่มเติม
มาตราที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม
กระบวนการที่ใช้
4 มิ.ย. 1960
การให้อิสรภาพแก่ประเทศแอฟริกา
มาตรา 85 และมาตรา 86
มาตรา 85 เดิมของรธน.
6 พ.ค. 1962
การแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการทั่วไปโดยตรงจากประชาชน
มาตรา 6 และ มาตรา 7
มาตรา 11 ของรธน.
(ประชามติ)
30 ธ.ค. 1963
การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมัยการประชุมของรัฐสภา
มาตรา 28
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
29 ต.ค. 1974
การแก้ไขเพิ่มเติมโดยกำหนดให้สมชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๖๐ หรือสมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๖๐ คน สามารถรวมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอเรื่องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้พิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมาย
มาตรา 61
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
18 มิ.ย. 1976
การแก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดี
มาตรา 7
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
25 มิ.ย. 1992
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการให้สัตยาบันสนธิสัญญา Maastricht
แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 2 มาตรา 54 และมาตรา 74
แก้ไขเลขหมวด 14 และ 15 เป็น 15 และ 16 ตามลำดับ
เพิ่มหมวด 14

มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
27 ก.ค. 1993
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดตั้งศาลอาญาแห่งสาธารณรัฐ (Cour de Justice de la République) และปฏิรูปคณะกรรมการตุลาการ (Conseil supérieur de la magistrature)
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 65 และ 68
แก้ไขเลขหมวด 10 ถึง 16 เป็น 11 ถึง 17
เพิ่มหมวด 10
เพิ่มมาตรา 93
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
25 พ.ย. 1993
การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศเรื่องสิทธิในการขอลี้ภัย
เพิ่มมาตรา 51-3
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
4 ส.ค. 1995
การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับขอบเขตการทำประชามติ สมัยการประชุมสภาและเอกสิทธิของสมาชิกรัฐสภา
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 11 มาตรา  12  มาตรา 26 มาตรา 28 มาตรา 48 มาตรา 49 และมาตรา 51
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๐
22 ก.พ. 1996
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชบัญญัติงบประมาณของสำนักงานประกันสังคม
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 34 และมาตรา 39
เพิ่มมาตรา 47-1
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๑
20 ก.ค. 1998
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับนิวคาเลโดเนีย
เพิ่มหมวด 13
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๒
25 ม.ค. 1999
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการให้สัตยาบันสนธิสัญญา Amsterdam
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 88-2 และมาตรา 88-4
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๓
8 ก.ค. 1999
การแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ
เพิ่มมาตรา 53-2
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)

๑๔
8 ก.ค. 1999
การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 3 และมาตรา 4
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๕
25 ต.ค. 2000
การแก้ไขเพิ่มเติมวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี จากเดิม ๗ ปี ให้เหลือ ๕ ปี
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6
มาตรา 89
(ประชามติ)
๑๖
25 มี.ค. 2003
การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องหมายจับยุโรป
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 88-2
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๗
28 มี.ค. 2003
การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 1 มาตรา 7 มาตรา 13 มาตรา 34 มาตรา 37 มาตรา 39 มาตรา 60 มาตรา 72 มาตรา 73 และมาตรา 74
เพิ่มมาตรา 72-1 มาตรา 72-2 มาตรา 72-3 มาตรา 72-4 มาตรา 74-1
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๘
1 มี.ค. 2005
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการให้สัตยบันสนธิสัญญาสถาปนาธรรมนูญยุโรป
แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 5
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๑๙
1 มี.ค. 2005
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับกฎบัตรสิ่งแวดล้อมในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ
แก้ไขเพิ่มเติมอารัมภบท
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๒๐
23 ก.พ. 2007
การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องผู้มีสิทธิเลือกตั้งในนิวคาเลโดเนีย
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 77


มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๒๑
23 ก.พ. 2007
การแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดของประธานาธิบดี
แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 67 และมาตรา 68
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๒๒
23 ก.พ. 2007
การแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่องการยกเลิกโทษประหารชีวิต
เพิ่มมาตรา 66-1
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๒๓
4 ก.พ. 2008
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการให้สัตยาบันสนธิสัญญา Lisbonne
แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)
๒๔
23 ก.ค. 2008
การแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อการปฏิรูปสถาบันและองค์กรทางการเมืองการปกครอง
เช่น มาตรา 1 มาตรา 4 มาตรา 6 มาตรา 11 มาตรา 13 มาตรา 16 ฯลฯ
มาตรา 89
(ที่ประชุมร่วมของรัฐสภา)








(๔) เรื่องที่ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมได้
มาตรา 89 กำหนดให้ไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องอาณาเขตของประเทศ (intégrité du territoire) และรูปแบบการปกครองแบบสาธารณรัฐ (forme républicaine du Gouvernement) ได้
(๕) อำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
ในคำวินิจฉัย ที่ 2003-469 DC ลงวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๐๐๓ คณะตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า คณะตุลาการรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจในการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปกครองสาธารณรัฐแบบกระจายอำนาจ ซึ่งที่ประชุมร่วมของรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบไว้ในวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๐๐๓
(๖) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการอื่นนอกเหนือจากโดยการอาศัยอำนาจตามมาตรา ๘๙ แห่งรัฐธรรมนูญ
นายพล เดอโกล ได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีเป็นการทั่วไปโดยตรงจากประชาชน โดยประธานาธิบดีเสนอให้มีการออกเสียงประชามติโดยประชาชนและไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา อย่างไรก็ดี นักวิชาการวิจารณ์การใช้วิธีการดังกล่าวเพราะถือว่าเป็นการขอสนับสนุนเสียงในตัวผู้นำ (plébiscites) ซึ่งในกรณีนี้ ประชาชนจะมิได้ลงประชามติโดยคำนึงถึงว่าตนเห็นด้วยกับเนื้อหาของร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ลงประชามติโดยพิจารณาว่าเห็นด้วยกับผู้นำ ณ ขณะนั้น หรือไม่ เปรียบเสมือนหนึ่งการลงคะแนนเสียงให้ความไว้วางใจแก่ผู้นำในขณะนั้น เช่นกรณีที่นายพล เดอโกล เสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องการจัดตั้ง régions (ภาค) และการปฏิรูปวุฒิสภา ในครั้งนั้น ประชาชนลงคะแนนเสียงไม่เห็นชอบร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญถึงร้อยละ ๕๒.๔ ซึ่งนายพล เดอโกลก็ถือว่าประชาชนไม่ไว้วางใจให้ตนดำรงตำแหน่งต่อไปและได้ลาออกจากตำแหน่ง


การทำประชามติ


ประชามติ (Referendum) เป็นกระบวนการหนึ่งของการปกครองโดยประชาชนตามแนวคิดประชาธิปไตยแบบทางตรง (La democratie directe ) ในช่วงแรกของการก่อตั้งรัฐประชาธิปไตยสมัยใหม่ (Etat democratique contemporain) ปรากฏว่าได้มีการนำประชามติมาใช้ในประเทศที่จัดการปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ ได้แก่ สหพันธ์สาธารณรัฐสวิสและสหรัฐอเมริกาซึ่งรับรองกระบวนการดังกล่าวไว้ในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญของมลรัฐ  ในปัจจุบันประเทศต่างๆได้นำกระบวนการประชามติมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น โดยถือว่าเป็นเทคนิคหนึ่งในการเปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา รัฐธรรมนูญของหลายประเทศได้บัญญัติรับรองการทำประชามติไว้ อาทิเช่น รัฐธรรมนูญของประเทศฝรั่งเศส (แห่งสาธารณรัฐที่ ๔ และสาธารณรัฐที่ ๕), รัฐธรรมนูญของประเทศออสเตรีย, รัฐธรรมนูญของประเทศอิตาลี, รัฐธรรมนูญของประเทศสวีเดน, รัฐธรรมนูญแห่งมลรัฐของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีรวมไปถึงประเทศอังกฤษก็ได้นำเทคนิคนี้มาใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๕
ประชามติมีความหมายเป็นการขอความเห็นจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งต่อคำถามใดคำถามหนึ่งหรือต่อบทบัญญัติของกฎหมายใดบทบัญญัติหนึ่งซึ่งจะมีผลเด็ดขาดได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีมติเห็นด้วยเท่านั้น[18]  โดยส่วนใหญ่แล้วจะพบกรณีที่รัฐธรรมนูญของประเทศต่างๆ กำหนดให้มีการทำประชามติอยู่สองกรณี คือ กรณีที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ซึ่งอาจรวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองใหม่ด้วย[19]) และกรณีของการตราพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นการเฉพาะ

๑. เงื่อนไขของการจัดให้ทำประชามติ
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสบัญญัติให้มีการทำประชามติใน ๓ กรณี คือการทำประชามติเพื่อขอความเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติ การทำประชามติเพื่อขอความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ และการทำประชามติในการปกครองส่วนท้องถิ่น

๑.๑ การทำประชามติเพื่อขอความเห็นของประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติ (Le referendum legislative)
อำนาจในการจัดให้มีการลงประชามตินั้น เดิมมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมอบอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีเพียงผู้เดียวในการตัดสินใจว่าจะจัดให้มีการขอความคิดเห็นจากประชาชนโดยวิธีการทำประชามติหรือไม่  โดยอำนาจดังกล่าวมีขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติทั้งสองสภาร่วมกัน ได้เสนอต่อประธานาธิบดีให้นำร่างรัฐบัญญัติใดร่างรัฐบัญญัติหนึ่งไปขอความเห็นจากประชาชนเพื่อขอความคิดเห็นโดยวิธีการทำประชามติ  ในการนี้ หากเป็นกรณีของการทำประชามติต่อร่างรัฐบัญญัติที่รัฐบาลเป็นผู้เสนอ รัฐบาลจะต้องทำการแถลงเกี่ยวกับร่างรัฐบัญญัตินั้นต่อสภานิติบัญญัติแต่ละสภาเสียก่อน เพื่อให้รัฐสภาทำการอภิปรายเกี่ยวกับร่างฯ ดังกล่าว โดยไม่มีการลงคะแนนเสียง
อนึ่ง ในปัจจุบัน หลักในการมอบอำนาจให้แก่ประธานาธิบดีเป็นผู้ตัดสินใจให้มีการทำประชามติแต่ผู้เดียวนั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข โดยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๐๐๘[20] ได้กำหนดให้การริเริ่มจัดทำประชามติสามารถกระทำได้โดยการร่วมมือกันระหว่างสมาชิกรัฐสภาและประชาชน (referendum d’initiative partage) กล่าวคือ มีการรับรองให้สมาชิกรัฐสภาและประชาชนร่วมกันเป็นผู้ริเริ่มให้มีการทำประชามติได้[21]  ในกรณีนี้ จะต้องมีสมาชิกรัฐสภาจำนวนหนึ่งในห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเป็นจำนวนอย่างน้อยหนึ่งในสิบของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด และร่างรัฐบัญญัติที่จะเสนอให้มีการลงประชามตินั้นจะต้องไม่มีเนื้อหาเป็นการยกเลิกบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งซึ่งประกาศใช้อยู่เป็นเวลาต่ำกว่าหนึ่งปี
สำหรับร่างรัฐบัญญัติที่จะเสนอให้มีการลงประชามติได้นั้น จะต้องมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจัดองค์กรซึ่งใช้อำนาจรัฐ การกำหนดนโยบายของชาติด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม การจัดทำบริการสาธารณะ หรือการให้ความเห็นชอบแก่การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และร่างรัฐบัญญัติดังกล่าวจะต้องมีลักษณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันตามรัฐธรรมนูญด้วย  ในการนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตรวจสอบร่างรัฐบัญญัตินั้นก่อนที่จะนำไปทำประชามติ

๑.๒ การทำประชามติเพื่อขอความเห็นของประชาชนต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (Le referendum constituent)
หลักเกณฑ์ของการทำประชามติเพื่อขอความเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐบัญญัติตามมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสมิได้ถูกนำมาใช้กับการทำประชามติต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย  เนื่องจากในกรณีหลังมีบทบัญญัติมาตรา ๘๙ กำหนดกระบวนการไว้เป็นพิเศษ กล่าวคือ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดให้มีการลงประชามติได้นั้นจะต้องนำขึ้นสู่การพิจารณาและลงคะแนนเสียงจากรัฐสภาก่อนเป็นลำดับแรก  ทั้งนี้ การริเริ่มให้มีการลงประชามติต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทำได้ทั้งโดยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ กล่าวคือ โดยประธานาธิบดี (ซึ่งผ่านการเสนอจากนายกรัฐมนตรี) และ โดยสมาชิกรัฐสภา

ในการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของรัฐสภานั้นจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติ กล่าวคือสภาผู้แทนราษฎรจะต้องนำร่างฯ ดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาเมื่อพ้นกำหนดเวลา ๖ สัปดาห์นับแต่วันที่มีการยื่นร่างฯ นั้นต่อสภา และเมื่อร่างฯ ผ่านการพิจารณาแล้ว วุฒิสภาจะนำขึ้นสู่การพิจารณาภายหลังจากที่ได้รับร่างฯ ดังกล่าวเป็นเวลา ๔ สัปดาห์  เมื่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงคะแนนเสียงจากทั้งสองสภาแล้ว จึงจะนำไปขอความเห็นจากประชาชนโดยผ่านการจัดให้ทำประชามติต่อไป  ทั้งนี้ หากปรากฏว่าประชาชนให้ความเห็นชอบต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอให้มีการลงประชามติแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีผลเป็นอันเด็ดขาด

การทำประชามติต่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมิได้มีลักษณะบังคับ  เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา ๘๙ เปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีตัดสินใจว่าจะจัดหรือไม่จัดให้มีการทำประชามติในร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็ได้  ในกรณีที่ประธานาธิบดีปฏิเสธไม่ใช้กลไกประชามติ ประธานาธิบดีจะต้องเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ลงคะแนนเสียงรับหรือไม่รับการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ทั้งนี้ การอนุมัติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากทั้งสองสภารวมกันด้วยจำนวนสามในห้าของคะแนนเสียงที่ลงทั้งหมด 

อนึ่ง มาตรา ๘๙ วรรคสี่ และวรรคห้า กำหนดข้อห้ามในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไว้ว่า  การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ หากการดังกล่าวมีสาระสำคัญอันส่งผลกระทบต่อความเป็นเอกภาพของดินแดน หรือเกี่ยวข้องกับระบบการปกครองในรูปแบบสาธารณรัฐ

๑.๓ การทำประชามติในการปกครองส่วนท้องถิ่น (Le référendum décisionnel local)
ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ ได้มีการกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศฝรั่งเศสมีอำนาจเสนอร่างข้อบัญญัติ (Acte ou Deliberation) ของตนให้ประชาชนในท้องถิ่นลงประชามติได้ ทั้งนี้ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจะต้องมีสาระสำคัญที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นๆ ในการนี้มีรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ เป็นกฎหมายซึ่งกำหนดรูปแบบและกระบวนการในการจัดทำประชามติดังกล่าว

๒. กระบวนการจัดให้มีการลงประชามติ
มีข้อสังเกตว่า ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่
วางหลักเกณฑ์ทั่วไปเกี่ยวกับการจัดให้มีการลงประชามติ  แต่มีการตรารัฐกฤษฎีกาขึ้นเป็นการพิเศษเพื่อใช้แก่การจัดทำประชามติในแต่ละครั้ง ซึ่งในทางปฏิบัติ รัฐกฤษฎีกาดังกล่าวจะถูกตราขึ้นในเวลากระชั้นชิดก่อนวันที่กำหนดให้มีการลงประชามติไม่เกิน ๖๐ วัน[22] ทั้งนี้ จะมีการตรารัฐกฤษฎีกาขึ้นอย่างต่ำสี่ฉบับ ได้แก่

(๑) รัฐกฤษฎีกาประกาศคำถามที่ประธานาธิบดีต้องการขอความเห็นจากประชาชนโดยผ่านการทำประชามติ  (ประกอบด้วย คำถามที่จะเสนอต่อประชาชน และวันที่ที่จัดให้มีการลงประชามติ)
(๒) รัฐกฤษฎีกากำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเสียงประชามติ
(๓) รัฐกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการจัดทำประชามติ และ
(๔) รัฐกฤษฎีกากำหนดวิธีการจัดทำประชามติและการลงคะแนนเสียง ทั้งนี้ รัฐกฤษฎีกาดังกล่าว
จะไม่ผ่านการตรวจสอบของสภาแห่งรัฐ (
Conseil d’Etat) ดังเช่นกรณีทั่วไป แต่จะถูกนำไปให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตรวจสอบด้วยวิธีการให้ความเห็นชอบ (un simple avis)

ทั้งนี้ สามารถรวบรวมวิธีการในการจัดทำประชามติได้ ดังนี้
๒.๑ ในลำดับแรก จะต้องมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการลงประชามติให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึง ในทางปฏิบัติถือเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องจัดให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่เป็นกลางเกี่ยวกับเรื่องที่จัดให้มีการลงประชามติ โดยจะต้องมีการแสดงบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะขอให้ลงประชามติให้ผู้มีสิทธิลงคะแนนได้ทราบพร้อมด้วยคำอธิบายประกอบ ค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และแจกจ่ายเอกสารเพื่อการดังกล่าวเป็นความรับผิดชอบของรัฐ
๒.๒ นอกจากการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งกระทำโดยรัฐแล้ว มีรัฐกฤษฎีกากำหนดให้พรรคการเมืองสามารถให้การเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับการทำประชามติต่อสาธารณะ (la campagne/la propagande) ได้  ในกรณีนี้จะมีทั้งการเสนอความเห็นในด้านบวกและด้านลบต่อร่างกฎหมายหรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่จะเสนอให้ลงประชามติ  สำหรับการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการทำประชามติโดยผ่านทางสื่อวิทยุโทรทัศน์นั้น รัฐกฤษฎีกากำหนดว่า
จะต้องมีการจัดเวลาให้ฝ่ายผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านการลงประชามติได้แสดงความเห็นผ่านทางสื่อของรัฐและของเอกชนอย่างเท่าเทียมกัน  ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตรวจสอบเนื้อหาและวิธีการของการเสนอข้อมูลและความคิดเห็นดังกล่าว 
๒.๓ การตั้งคำถามเพื่อนำไปใช้ลงประชามติ  ในทางปฏิบัติคำถามที่จะนำไปใช้ลงประชามติจะมีรูปแบบที่ชัดเจนรัดกุม เพื่อสอบถามว่าประชาชนเห็นชอบกับร่างกฎหมาย หรือร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ทั้งฉบับหรือเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง) หรือไม่  ทั้งนี้ลักษณะของประโยคคำถามจะเป็นดังนี้[23]
     (๑) เป็นคำถามให้ตอบได้อย่างเดียว ไม่ควรเป็นคำถามที่มีเงื่อนไขเชื่อมโยงกัน และเป็นคำถามที่เปิดให้เลือกตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
     (๒) เป็นคำถามที่มีเนื้อหาเรื่องเดียว ยกเว้นในกรณีที่เป็นการแก้กฎหมายหรือรัฐธรรมนูญทั้งฉบับซึ่งอาจมีหลายประเด็น แต่จะต้องเป็นประเด็นที่สอดคล้องกัน
     (๓) เป็นคำถามที่มีความชัดเจน ไม่มีลักษณะที่ทำให้สับสน และจะต้องแสดงให้เห็นถึงการขอความเห็นจากประชาชนอย่างแท้จริง มิได้มีเป้าหมายอื่นใดซ่อนเร้น[24]
๓.๓ การลงคะแนนเสียงประชามติ  วิธีการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงประชามติจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับวิธีการจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป (การทำรายการผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงประชามติ การกำหนดเขตลงประชามติ และวิธีการนับคะแนนเสียง) อนึ่ง บัตรลงคะแนนประชามตินั้น จะมีสองใบ พิมพ์ลงกระดาษสีขาว ใบหนึ่งเขียนคำว่าเห็นด้วย (oui) และอีกใบหนึ่งเขียนคำว่าไม่เห็นด้วย (non)
๓.๔ การคัดค้านกระบวนการจัดทำประชามติ  รัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งออกตามความในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งสามารถคัดค้านความชอบด้วยกฎหมายของการลงคะแนนเสียงประชามติได้ โดยวิธีการยื่นคำคัดค้านต่อศาลรัฐธรรมนูญ (โดยผ่านคณะกรรมการผู้จัดทำทะเบียนเลือกตั้ง –Commission de recensement)  ในการนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบคำคัดค้านและมีคำวินิจฉัยว่ามีการลงคะแนนเสียงประชามติไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลฯจะสั่งให้ยกเลิกผลการทำประชามตินั้น และให้มีการแก้ไขในส่วนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ถูกต้อง (les redressements necessaires) ก่อนที่จะประกาศผลของการลงประชามติ

๓. ผลของการลงประชามติ
การลงประชามติจะต้องมีผลเด็ดขาด กล่าวคือจะต้องนำไปสู่การประกาศใช้
หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย มิใช่เป็นเพียงการขอความเห็นของประชาชนโดยไม่นำไปสู่การดำเนินการใดๆ  ผลของการลงประชามติที่เด็ดขาดคือผลที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจากประชาชนผู้ใช้สิทธิ (ในกรณีนี้มีการพิจารณาถึงจำนวนของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนประกอบด้วย)

หากผลของการลงประชามติเป็นการเห็นด้วย จะนำไปสู่การประกาศใช้กฎหมายที่เรียกว่า loi constitutionnelle ว่าด้วยเรื่องที่ได้ทำประชามตินั้น  ในกรณีนี้ หากเป็นร่างรัฐบัญญัติ ประธานาธิบดีจะต้องลงนามในร่างรัฐบัญญัติที่ผ่านการลงประชามติภายในเวลา ๑๕ วันนับแต่วันประกาศผลการลงประชามติ แต่หากผลของการลงประชามติปรากฏว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว ให้ร่างรัฐบัญญัตินั้นเป็นอันตกไป และรัฐสภาไม่อาจที่จะพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติที่มีเนื้อหาอย่างเดียวกันในภายหลังได้อีก เว้นแต่จะพ้นระยะเวลา ๒ ปีนับแต่วันที่มีการลงคะแนนเสียงประชามตินั้น

หากเป็นกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ซึ่งรัฐสภาได้เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก่อนที่จะนำไปลงประชามติ) หากผลของการลงประชามติเป็นการเห็นด้วยกับร่างฯ นั้น ก็จะนำไปสู่การประกาศใช้ loi constitutionnelle ที่มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขบทบัญญัติใดบทบัญญัติหนึ่งในรัฐธรรมนูญ แต่หากปรากฏผลการลงประชามติว่าประชาชนไม่เห็นชอบด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะมีผลให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนั้นต้องหยุดชะงักไว้ (suspensif)

สำหรับในกรณีที่ประเด็นซึ่งขอให้มีการลงประชามตินั้น ได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งวางกฎเกณฑ์ไว้ก่อนแล้ว หากผลของการลงประชามติเป็นการเห็นด้วย ก็จะมีผลเป็นการยกเลิกบทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่ก่อน (abrogatif)  แต่หากปรากฏผลของการลงประชามติว่าประชาชนการไม่เห็นด้วย หรือหากมิอาจมีการจัดให้มีการลงประชามติได้ภายในวันที่กำหนดไว้ จะมีผลให้การบังคับใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นหยุดชะงักลง (suspensif) เช่นกัน อนึ่ง บทบัญญัติแห่งมาตราใดที่ได้ผ่านการลงประชามติแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ประชาชนลงมติเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็ตาม สามารถที่จะนำขึ้นสู่การพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐสภาได้ในภายหลัง (ตัวอย่างเช่น กรณีที่ประชาชนได้ลงประชามติรับกฎหมายพื้นฐานของ Nouvelle-Caledonie (le Statut de la Nouvelle-Caledonie) เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๘ ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๙๙ ได้มีการตรารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญของกฎหมายพื้นฐานฉบับนั้นได้

๔. การตรวจสอบกระบวนการทำประชามติและการรับรองผล
          มาตรา ๖๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสบัญญัติให้
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรผู้มีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการจัดให้มีการลงประชามติ และเป็นผู้ประกาศผลการลงประชามติดังกล่าว (อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญไม่ถือว่าตนมีอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายที่ผ่านการลงประชามติแล้ว เนื่องจากเหตุผลว่ากฎหมายฉบับนั้นๆ เป็นความต้องการโดยตรงของอำนาจอธิปไตยของชาติ ซึ่งถือได้ว่าอยู่นอกเหนือการจัดลำดับชั้นกฎหมาย (
hors hierachie des normes) ) รัฐกฤษฎีกา ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๕๘ออกตามความในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดบทบาทของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นทั้งที่ปรึกษา ผู้ดำเนินการ และผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนี้
(๑)             ให้รัฐบาลขอความเห็นจากศาลรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับการจัดให้มีการดำเนินการทำประชามติ (มาตรา ๔๖)
(๒)           ให้ศาลรัฐธรรมนูญทำข้อสังเกตเกี่ยวกับรายชื่อขององค์กรที่ได้รับมอบอำนาจให้เป็นผู้เผยเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการลงประชามติต่อสาธารณะ (มาตรา ๔๗)
(๓)            ศาลรัฐธรรมนูญอาจแต่งตั้งให้ตุลาการศาลยุติธรรม หรือตุลาการ
ศาลปกครองเป็นผู้ควบคุมประจำพื้นที่ที่จัดให้มีการลงประชามติ (มาตรา ๔๘)
(๔)            ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ตรวจสอบและรับรองการขึ้นทะเบียน
ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ (มาตรา ๔๙)
(๕)            ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่พิจารณาและตัดสินคำร้องคัดค้านการลงประชามติ  ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าขั้นตอนการดำเนินการทำประชามติไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจใช้ดุลพินิจประกาศยกเลิกการทำประชามติทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน (มาตรา ๕๐)
(๖)             ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ประกาศผลการลงประชามติ และให้มีการประกาศผลดังกล่าวไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการตรากฎหมายที่ประชาชนอนุมัติบัญญัติผลการลงประชามติไว้ด้วย


                            




[1]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[2]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายกิจการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[3]นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ ฝ่ายกฎหมายการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[4]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[5]เช่นเดียวกับกรณีของการแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งอาจแต่งตั้งจากผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา หรือสมาชิกพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองได้
[6]Article LO119 ห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral)
[7]Article LO121 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral) บัญญัติให้วาระการดำรงตำแหน่งสิ้นสุดลงในวันอังคารที่สามของเดือนมิถุนายน
[8]Article LO122 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral)
[9]มาตรา ๑๒ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘
[10]Article LO178 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral)
[11]ในประเทศฝรั่งเศส ประชาชนผู้ประสงค์จะใช้สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งจะต้องลงทะเบียนขอใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้ง
[12]มาตรา ๕  รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและสภาแห่งสาธารณรัฐ
[13]มาตรา ๒๔ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. ๑๙๕๘ บัญญัติให้วุฒิสภามีสมาชิกได้ไม่เกิน ๓๔๘ คน
[14]ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๗๕ ในสมัยสาธารณรัฐที่ ๓
[15] Article L295 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral)
[16] Article L294 แห่งประมวลกฎหมายเลือกตั้ง (Code électoral)
[17] ศาลยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐ (Cour de justice de la République) ประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน ๖ คน สมาชิกวุฒิสภา จำนวน ๖ คน และผู้พิพากษาศาลฎีกา จำนวน ๓ คน
[18] Pactet P. et Melin-Soucramanien F., Droit Constitutionnel, 32e edition, Paris, Dalloz, 2013 ,p. 83.
[19] ในประเทศเสปน ได้จัดให้มีการลงประชามติเพื่อเปลี่ยนจากการปกครองระบอบเผด็จการเป็นการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๑๙๗๖ เช่นเดียวกับในประเทศกรีซที่จัดให้มีการลงประชามติในวันที่ ๘ ธันวาคม ๑๙๗๔ เพื่อให้ประชาชนเห็นชอบกับการเปลี่ยนจากระบบการปกครองแบบเผด็จการอาณานิคมไปสู่ระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฉบับแรก (๗ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๕)
[20] ส่งผลให้มีการประกาศใช้รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและรัฐบัญญัติ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๑๓ ว่าด้วยการใช้บังคับมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
[21] อย่างไรก็ดี รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและรัฐบัญญัติว่าด้วยการใช้บังคับมาตรา ๑๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส กำหนดให้เริ่มต้นการบังคับใช้กลไกนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ค.ศ. ๒๐๑๕ เป็นต้นไป
[22]ตัวอย่างเช่น ในการทำประชามติ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ มีการออกรัฐกฤษฎีกาลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๒ เรียกให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมาลงคะแนนเสียงประชามติ และรัฐกฤษฎีกาอีกจำนวนสี่ฉบับ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๒
[23] Lignes directrices sur le referendum constitutionnel a l’echelle nationale adoptees par laCommission de venise lors de sa 47e reunion pleinaire (Venise, 6-7 juillet 2001)(CDL-INF(2001)010)
[24] คำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญ decision no. 87-226 DC du 26 juin 1987, Ststut de la Nouvelle-Caledonie และ decision no. 2000-428 DC du 4 mai 2000, Consultation de la population de Mayotte sur son souvenir statutaire.