วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2558

ความร่วมมือด้านกฎระเบียบของอาเซียน

นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

                   ด้วยผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมการประชุม Centres of Government (CoG) Meeting การประชุม ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Conference: Connectivity, Competitiveness and Regulatory Coherence และการประชุม First official meeting of ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Network ระหว่างวันที่ ๙-๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และผู้เขียนเห็นว่าการประชุมดังกล่าวนั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความร่วมมือด้านกฎระเบียบของอาเซียนอันจะนำไปสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนที่แน่นแฟ้นภายหลังปี ๒๕๕๘

                   น่าเสียดายที่หนังสือพิมพ์บ้านเราไม่นิยมนำเสนอข่าวในเรื่องทำนองนี้เท่าใดนักทั้งที่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ  อย่างไรก็ดี ผู้เขียนตระหนักดีว่าผู้เขียนไปประชุมครั้งนี้โดยใช้เงินแผ่นดินบางส่วน (ที่เหลือออกเงินเอง) จึงอยากเล่าให้ผู้เสียภาษีที่ไม่มีโอกาสได้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบว่าเขาประชุมอะไรกัน และผู้เขียนมีความคิดเห็นต่อการประชุมนี้อย่างไร เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องบ้าง

                   ๑. การประชุม Centres of Government (CoG) Meeting

                       การประชุมนี้จัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ ๙ มีนาคม ๒๕๕๘ เป็นการประชุมครั้งแรกของข้าราชการระดับผู้แทนของหัวหน้าหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการจัดทำและวิเคราะห์นโยบายด้านต่าง ๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจทางนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งเขาเรียกหน่วยงานเหล่านี้ว่า Centres of Government (CoG)

                       วัตถุประสงค์ของการประชุมนี้ก็เพื่อให้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวของแต่ละประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการจัดทำและวิเคราะห์นโยบายเพื่อประกอบการตัดสินใจทางนโยบายของคณะรัฐมนตรีหรือประธานาธิบดีของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยใช้ ASEAN Good Regulatory Practice (GRP) Guide ที่รับรองโดยที่ประชุมข้าราชการระดับสูงของอาเซียน (Senior Official Meeting: SEOM) ในการประชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ๒๕๕๒ เป็นแนวทางดำเนินการ เพื่อให้การวิเคราะห์และจัดทำนโยบายสาธารณะ (Public policies) ซึ่งรวมถึงการออกกฎหมาย กฎ ระเบียบด้วยนั้น วางอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนและเพียงพอ (Evidence based policy making) ไม่ใช่นึกหรือมโนเอาเอง แต่ต้องมีผลการศึกษาวิเคราะห์สภาพปัญหาและผลกระทบของนโยบายสาธารณะนั้นที่อาจมีต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบและรอบด้าน และโดยสอดคล้องกับพันธกรณีต่าง ๆ ของ ASEAN เพื่อให้กฎหมาย กฎ ระเบียบของอาเซียนมีความสอดคล้องกัน (ASEAN Regulatory Harmonization) อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการร่วมกันภายหลังการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ (Beyond AEC 2015) ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นพ้องกันที่จะให้ CoG ของแต่ละประเทศนำหลักการของ ASEAN GRP ไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

                       ทั้งนี้ หลักการของ GRP นั้นสอดคล้องกับ การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย หรือ Checklists ของไทย ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับ OECD Regulatory Impact Assessment (RIA) โดยกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยต้องดำเนินการดังต่อไปนี้ก่อนการจัดทำและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะ
·       วิเคราะห์สภาพปัญหาให้ชัดเจน
·       กำหนดวัตถุประสงค์ในการแก้ไขปัญหา
·       ประเมินทางเลือกทั้งหมดที่เป็นไปได้
·    วิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้ทางเลือกแต่ละทางเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด
·       ปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง

                       ในการประชุมนี้มีหัวหน้าคณะผู้บริหาร (Executive Director) ของ APEC (Dr. Alan Bollard) และผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายกฎหมาย (Regulatory Division) ของ OECD (Nick Malyshev) เข้าร่วมประชุมด้วยเพราะ GRP นั้นเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศโดยรวม และผู้แทน APEC และ OECD รับที่จะให้ความสนับสนุนทางวิชาการแก่อาเซียนเนื่องจากเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับนโยบายการค้าเสรีของ APEC และ OECD

                   ๒. การประชุม ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Conference: Connectivity, Competitiveness and Regulatory Coherence

                       การประชุมนี้จัดขึ้นระหว่างวันอังคาร ที่ ๑๐ ถึงวันพุธ ที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้สมาชิกของอาเซียนและสมาชิก OECD ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำ GRP และ RIA ไปปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ความสอดคล้องกันของกฎหมาย กฎ ระเบียบของอาเซียน (ASEAN Regulatory Harmonization) ซึ่งเลขาธิการอาเซียนได้เข้าร่วมประชุมด้วย

                       ในการประชุมนี้ มาเลเซียในฐานะเจ้าภาพได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการตาม GRP โดยมาเลเซียได้ร่วมมือกับ OECD เมื่อปีเศษที่ผ่านมาในการศึกษาวิเคราะห์ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการใช้ GRP เป็นหลักในการพัฒนาและการดำเนินการตามนโยบายสาธารณะเพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกสูงขึ้น ทั้งนี้ สถาบันเพิ่มผลผลิตของมาเลเซีย (Malaysia Productivity Corporation: MPC) ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงการค้าระหว่างประเทศและอุตสาหกรรม (Ministry of International Trade and Industry: MITI) เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ

                       โดยผลการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและอุปสรรคของ OECD แสดงให้เป็นว่าโครงสร้างของระบบกฎหมายมาเลเซียมีความคล้ายคลึงกับโครงสร้างของระบบกฎหมายไทย กล่าวคือ ยังคงมุ่งเน้นการควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านระบบการอนุมัติอนุญาตที่กอปรไปด้วยขั้นตอนมากมายอันทำให้เกิดภาระแก่ประชาชน สร้างต้นทุนในการประกอบการ สร้างภาระงบประมาณภาครัฐ ทั้งยังเป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบ และการออกกฎหมายใหม่ ๆ ก็ยังมีแนวโน้มที่ยังยึดติดกับระบบควบคุมแบบดั้งเดิม

                       OECD จึงเสนอให้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานให้ชัดเจนว่าต้องมุ่งไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (Towards High Income Economy) โดยหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีพันธกิจที่จะต้องทำให้ประชาชนมี “Better Quality of Life” โดยใช้ ranking ของมาเลเซียใน Global Competitiveness Index Report ที่จัดทำโดย World Economic Forum (WEF) เป็น Key Performance Indicator (KPI) โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่ละ Index ที่ปรากฏอยู่ใน Global Competitiveness Index จะ สอบผ่านหาก ranking ที่ตนรับผิดชอบมี ranking สูงขึ้น โดยเหตุผลที่มาเลเซียกำหนด KPI เช่นนี้ก็เนื่องจาก Global Competitiveness Index Report เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของนักลงทุนทั่วโลกและมีมาตรฐานการประเมินที่เป็นที่ยอมรับ

                       สำหรับกฎหมายนั้น OECD เสนอให้มาเลเซียดำเนินการเป็นสองกรณี
                       กรณีที่หนึ่ง กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่แล้ว เบื้องต้นให้มีสำรวจว่ามีการอนุมัติอนุญาตให้มีการประกอบธุรกิจจำนวนเท่าใด ซึ่งพบว่ามีกิจการที่ต้องได้รับอนุมัติอนุญาตทั้งสิ้น ๗๖๗ กิจการ ต่อมาเป็นการทบทวนอย่างจริงจังว่าเป็นการอนุมัติอนุญาตที่ไม่จำเป็นกี่รายการ ซึ่งพบว่ามีกิจการที่ไม่จำเป็นต้องอนุญาตถึง ๓๑๓ รายการ ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนในการดำเนินการของเอกชน (Compliance Cost) ถึง ๗๒๙ ล้านริงกิตต่อปี (ประมาณ ๗,๒๙๐ ล้านบาทต่อปี) จึงมีการเลิกการอนุมัติอนุญาตดังกล่าวเสีย โดยปัจจุบันยังคงมีกิจการที่ต้องได้รับอนุมัติอนุญาตรวม ๔๕๔ รายการ แต่ในจำนวนนี้ มาเลเซียกำลังพิจารณาลดการอนุมัติอนุญาตลงอีก และมีการนำระบบ ICT มาใช้ในการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตโดยให้บริการผ่าน Web Portal My Government (https://www.malaysia.gov.my/en/1-malaysia-one-call-centre) ซึ่งลดภาระแก่ประชาชน ลดต้นทุนในการประกอบการ ลดภาระงบประมาณภาครัฐ และลดการทุจริตและประพฤติมิชอบลงได้เพราะไม่มีการใช้ดุลพินิจ
                       กรณีที่สอง กฎหมายที่จะร่างขึ้นใหม่ มีการจัดตั้งคณะทำงาน (Task Force) ร่วมภาครัฐและเอกชน เรียกว่า PEMUDHA ซึ่งคล้ายกับ กรอ. ของไทยขึ้นโดยมีพันธกิจ “To Facilitate Business” ทำหน้าที่ให้ความเห็นประกอบการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีในการตัดสินใจในทางนโยบายและกฎหมายว่าร่างกฎหมายนั้นจะอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างไร ซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย PEMUDHA จึงต้องพิจารณาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มิใช่ Business perspective เท่านั้น และ PEMUDHA จะนำ GRP มาใช้ในการตรวจสอบนโยบายสาธารณะที่เสนอซึ่งรวมถึงร่างกฎหมายด้วย

                       ทั้งนี้ ในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๕๘ นั้น มาเลเซียและ OECD ได้ร่วมกันเปิดตัวผลการศึกษาเรื่อง “Implementing Good Regulatory Practice in Malaysia” ด้วย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการดำเนินการของมาเลเซียในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะประเทศในกลุ่ม OECD ล้วนแต่เป็น ประเทศผู้ลงทุนที่มีคุณภาพทั้งสิ้น การจ้าง OECD ให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะจึงเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศแก่นักลงทุนไปในตัวว่าบัดนี้มาเลเซียได้ยกระดับด้านกฎระเบียบเพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากลแล้ว

                       สำหรับประเทศอื่นในอาเซียนนั้น สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และฟิลิปปินส์เพิ่งเริ่มนำหลัก GRP ไปใช้โดยความสนับสนุนของ ADB ซึ่งมีผู้แทนจาก ADB มาเป็น panelist เพื่อร่วม ประชาสัมพันธ์ผลงาน และพัฒนาการของทั้งสี่ประเทศนั้นด้วย ส่วนอินโดนีเซียพัฒนา RIA ขึ้นใช้ซึ่งสอดคล้องกับ GRP โดยได้รับความสนับสนุนทางวิชาการจากรัฐบาลฮอลแลนด์ เมียนมาร์ไม่มีการวิเคราะห์ GRP เนื่องจากสถานการณ์ในประเทศ สิงคโปร์ดำเนินการตามหลักการนี้มานานแล้วเนื่องจากเป็นสมาชิก OECD ส่วนบรูไนและติมอร์ เลสเต นั้นไม่ได้ส่งผู้แทนเป็น panelist

                       ผู้เขียนได้ร่วมแสดงประสบการณ์ของประเทศไทยในฐานะ panelist ด้วย โดยกล่าวถึงความเป็นมาและพัฒนาการของประเทศไทยในการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายก่อนการเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการตัดสินใจในทางนโยบาย (ex ante assessment) และได้กล่าวถึงความก้าวหน้าในการประเมินผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว (ex post evaluation of legislation) ตามร่างกฎหมายว่าด้วยการทบทวนความจำเป็นในการตรากฎหมาย การนำพัฒนาระบบการอนุมัติอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตของทางราชการ รวมทั้งการใช้ ICT ในการอนุมัติอนุญาตด้วย  ในการนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่พัฒนา RIA ขึ้นด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นใดและได้พัฒนา Sunset law เป็น ex post evaluation of legislation ขึ้นเป็นรูปธรรมจนมีการเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้วเป็นประเทศแรกในอาเซียน โดย Sunset law ของไทยกำหนดให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับต้องจัดให้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกรอบ ๕ ปี นับแต่วันที่กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งต้องเปิดเผยผลการพิจารณาทบทวนดังกล่าวต่อสาธารณะและต้องเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อทราบด้วย

                   ๓. การประชุม First official meeting of ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Network

                   การประชุมนี้จัดขึ้นระหว่างวันพฤหัสบดี ที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อให้ผู้ทำงานด้าน GRP และ RIA ระดับสูงของอาเซียนและ OECD ได้มีโอกาสพบปะหารือเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต โดยเครือข่ายนี้จะทำงานร่วมกับ SEOM และสำนักเลขาธิการอาเซียน และในเบื้องต้นกำหนดจะจัดให้มีการประชุมเป็นประจำทุกปี ส่วนค่าใช้จ่ายในการประชุมนั้นจะมีการหารือกันต่อไประหว่าง OECD, SEOM และสำนักเลขาธิการอาเซียน

                   ๔. ความเห็นและข้อเสนอแนะ

                       ๔.๑ ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยมีระบบการตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายก่อนการเสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการตัดสินใจในทางนโยบาย (ex ante assessment) มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ แล้ว แต่การปฏิบัติที่ผ่านมายังไม่มีความจริงจังเท่าที่ควร การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมายเป็นเพียงการกรอกแบบฟอร์มโดยปราศจากการวิเคราะห์ผลกระทบด้านต่าง ๆ อย่างจริงจังของหน่วยงานผู้เสนอกฎหมาย ทำให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติกฎหมายต่าง ๆ บนข้อมูลที่ไม่รอบด้าน ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว กฎหมายจึงไม่สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในภาพรวม อันเป็นผลให้ประชาชนจำนวนมากละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งยังทำให้การบังคับใช้กฎหมายกระทำได้ด้วยความยากลำบาก ทั้งนี้ จากการตรวจสอบร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้เขียนพบว่าหน่วยงานผู้ยกร่างกฎหมายยังเสนอให้ตรากฎหมายเพื่อควบคุมการประกอบกิจการต่าง ๆ ผ่านระบบการอนุมัติอนุญาตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเสนอให้ตรากฎหมายเพื่อขยายอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือจัดตั้งหน่วยงานของรัฐใหม่ ๆ อันเป็นภาระต่องบประมาณ เป็นต้น

                       ๔.๒ จากการศึกษารายงานของ OECD ผู้เขียนพบว่า ex ante assessment นั้นสามารถนำมาใช้กับการประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากนโยบายสาธารณะอื่น ๆ ได้ด้วย มิได้จำกัดเฉพาะกฎหมายเท่านั้น และการประเมินผลกระทบดังกล่าวจะช่วยให้การพิจารณาอนุมัตินโยบายสาธารณะต่าง ๆ เป็นการพิจารณาแบบ Evidence based หรือเป็นการพิจารณาบนข้อมูลที่เพียงพอและรอบด้านว่าการนโยบายสาธารณะนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมีการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของนโยบายสาธารณะ (Cost-Benefit Analysis) นั้นอย่างจริงจังและเป็นระบบด้วย

                       ๔.๓ นอกจากการประเมินผลกระทบและความคุ้มค่าแล้ว หลักสำคัญของ ex ante assessment อีก ๒ ประการ ได้แก่ Stakeholders consultation และ Openness ยังช่วยให้การพิจารณาอนุมัตินโยบายสาธารณะต่าง ๆ มีความโปร่งใสและเป็นที่ยอมรับของประชาชนมากขึ้นอีกด้วย  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารแพร่กระจายอย่างรวดเร็วผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ

                       ๔.๔ สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อนำหลักการ ex ante assessment มาประยุกต์ใช้ให้ได้ผลอย่างแท้จริงนั้น ผู้เขียนเห็นว่าหากองค์กรที่เป็นแกนหลักของรัฐบาล (Centres of Government) ที่มีอยู่ในปัจจุบันปฏิบัติหน้าที่อย่างจริงจังแล้วจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ แทนที่จะตั้งคณะกรรมการแบบ ad hoc committee ขึ้นเพื่อกลั่นกรองเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๘ ข้อพิจารณาอีกประการหนึ่งนั้น คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีนั้นเป็นคณะกรรมการในทางบริหาร และมีหน้าที่เสนอความเห็นต่อฝ่ายบริหารเพื่อประกอบการตัดสินใจเท่านั้น จึงไม่มีความรับผิดชอบตามกฎหมายและอาจเป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการทุจริตทางนโยบายขึ้นได้อีกด้วย

                       ๔.๕ ผู้เขียนเห็นว่าประเทศไทยมี คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อันเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๒๑ อยู่แล้ว ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนา แต่คณะกรรมการดังกล่าวกลับไม่มีบทบาทในการพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะต่อนโยบายสาธารณะต่าง ๆ “ก่อน” เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ทั้งที่มาตรา ๖ (๑) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมต่อคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว  ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากคณะรัฐมนตรีมอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเปลี่ยนมาดำเนินการในเชิงรุกเพื่อสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในการพิจารณาอนุมัตินโยบายสาธารณะต่าง ๆ แล้ว จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนเห็นว่าคณะกรรมการดังกล่าวควรทำหน้าที่เป็น Quality Control Unit ของ RIA แทนที่จะทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่เพียงประการเดียวแล้วเงียบหายไป ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะต่าง ๆ นั้นควรต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการดังกล่าวก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีทุกเรื่อง แทนที่จะใช้วิธีการสอบถามความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการดังกล่าวเท่านั้น 

                       ๔.๖ เช่นเดียวกัน ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐหรือกฎหมาย ผู้เขียนก็เห็นว่าสมควรที่จะต้องผ่านการพิจารณาของ คณะกรรมการ ก.พ.หรือ คณะกรรมการพัฒนากฎหมายซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าวก่อนในฐานะที่เป็น Quality Control Unit ของ RIA ด้านการบริหารจัดการบุคลากรภาครัฐและกฎหมาย มิใช่เพียงสอบถามความเห็นจากสำนักงาน ก.พ. หรือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นเพียงฝ่ายเลขานุการฯ ของคณะกรรมการดังกล่าวเท่านั้น

                   ๔.๗ สำหรับกรณีที่ว่า หากต้องเสนอเรื่องที่เป็นนโยบายสาธารณะต่อคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการ ก.พ. หรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเพื่อเสนอแนะและให้ความเห็นในฐานะที่เป็น Quality Control Units ของ RIA ในด้านต่าง ๆ แล้วจะทำให้การดำเนินงานล่าช้านั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นปัญหาในการบริหารจัดการเพื่อให้มีการประชุมของคณะกรรมการต่าง ๆ ดังกล่าวซึ่งสามารถแก้ไขได้โดยใช้มาตรการทางบริหาร

                ๔.๘ สำหรับการจ้าง OECD ให้ศึกษาเรื่อง “Implementing Good Regulatory Practice in Thailand” เช่นเดียวกับที่มาเลเซียดำเนินการนั้น ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะจะเป็นการวิเคราะห์แบบ Outside-in หรือในแง่มุมที่ต่างประเทศให้ความสำคัญหากจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งประเทศในกลุ่ม OECD เป็นประเทศผู้ลงทุนที่มีคุณภาพ การจ้าง OECD ให้ดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะจึงได้ทั้งผลงานที่เป็นรูปธรรม และเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศแก่นักลงทุนไปในตัวว่าไทยพยายามที่จะยกระดับด้านกฎระเบียบเพื่อเข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าคุ้มค่ากว่าการไปซื้อโฆษณาในนิตยสารหรือสื่อต่าง ๆ อย่างที่เคยดำเนินการมา


                   ท่านผู้อ่านมีความเห็นอย่างไรบ้างครับ???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น