วันอังคารที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

<รับฟังความคิดเห็น>

บันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
                  

                                                                        หลักการ

                    (๑)  ปรับปรุง (๑) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค”  ให้จำกัดเฉพาะคดีแพ่งที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่น ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (แก้ไขเพิ่มเติม (๑) ของมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑)
                    (๒) ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” (ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑)
                  (๓) ยกเลิกมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                                                                        เหตุผล

                   โดยที่ปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจอาศัยช่องว่างของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณา
คดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ฟ้องผู้บริโภคเพื่อบังคับชำระหนี้เป็นจำนวนมาก โดยปรากฏว่า
คดีผู้บริโภคนั้น มีคดีที่ผู้บริโภคเป็นโจทก์เพียงประมาณร้อยละห้าเท่านั้น ขณะที่มีคดีที่ผู้ประกอบ
ธุรกิจเป็นโจทก์ถึงประมาณร้อยละเก้าสิบห้า การกระทำดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคที่ต้องการให้มีวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคเป็นวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค อันจะทำให้ผู้บริโภคซึ่งได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพอันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ทั้งยังเป็นการใช้กฎหมายเพื่อบีบบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้โดยไม่เป็นธรรมด้วย กรณีจึงสมควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ร่าง
พระราชบัญญัติ
วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) 
พ.ศ. ....
                  

                                                                .........................................
                                                               ..........................................
                                                               ..........................................

                    ..............................................................................................
...................................

                   โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

                      ..............................................................................................
...................................

                   มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...."

                   มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ให้ยกเลิกความใน (๑) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                   “(๑) คดีแพ่งที่ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคตามมาตรา ๑๙ หรือตามกฎหมายอื่น ฟ้องผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายอันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ หรือเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย”

                   มาตรา ๔  ให้ยกเลิก (๒) ของบทนิยามคำว่า “คดีผู้บริโภค” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                   มาตรา ๕  ให้ยกเลิกมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

                   มาตรา ๖ ให้ถือว่าคดีผู้บริโภคที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นโจทก์ฟ้องผู้บริโภคบรรดาที่ยังอยู่
ในระหว่างการพิจารณาของศาลในวันที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับนี้ใช้บังคับ ไม่เป็นคดีผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ อีกต่อไป และให้ศาลพิจารณา พิพากษาคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงคดีลักษณะดังกล่าวที่ศาลได้มีคำพิพากษาและถึงที่สุดแล้ว

                  มาตรา ๗  ให้ประธานศาลฎีการักษาการตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


...............................................
            นายกรัฐมนตรี


วันอาทิตย์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 6: ที่มาของ "แบบกฎหมาย"

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   ในทางตำรา “แบบกฎหมาย” หมายถึงรูปแบบ (Formalities) ของกฎหมายที่มีการจัดโครงสร้างเป็นหมวดหมู่ (Arrangement) มิใช่การใช้ถ้อยคำในกฎหมายอันเป็นเรื่องวิธีการเขียน (Style) เพื่อให้ตัวบทกฎหมายเป็นตัวกลาง (medium) ในการสื่อสาร (Communicate) ให้ผู้อ่านมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือสิ่งที่ผู้ร่างกฎหมายต้องการให้ปฏิบัติตาม

                   ในระบบกฎหมายไทยนั้น หลักฐานการวางแบบกฎหมายมีการบันทึกไว้เป็นเรื่องเป็นราวในปี 2488 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 ยังมีผลใช้บังคับ โดยกองนิติธรรม แผนกกฎหมาย กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีบันทึกลงวันที่ 12 ธันวาคม 2488 สรุปความได้ว่า ขณะนั้นมีพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติที่จะต้องถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยหลายฉบับ ประกอบกับคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินพ้นจากหน้าที่แล้ว แบบกฎหมายจึงควรเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ผู้ช่วยเลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น (หลวงชำนาญอักษร) จึงได้ส่งแบบร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกาที่กองนิติธรรมได้จัดทำขึ้นมายังเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อเสนอคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและกำหนดเป็นแบบใช้ต่อไป

                   แบบร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกาที่กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอมาเป็นดังนี้

แบบพระราชบัญญัติ

ชื่อร่าง
                  

พระปรมาภิไธย

                   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า
                   โดยที่สภาผู้แทนราษฎรถวายคำปรึกษาว่า สมควร ... (คำปรารภ) .............................
                   จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดั่งต่อไปนี้

                   มาตรา 1  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา 2  ..........................................................................................
........................................

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกฤษฎีกา

ชื่อร่าง
                  

พระปรมาภิไธย

                   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร (คำปรารภ) .....................................................
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา .. แห่งพระราชบัญญัติ .......................... จึงทรง
พระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

                   มาตรา 1  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา 2  ..........................................................................................
........................................

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

                   คณะกรรมการกฤษฎีกา (ครบคณะ) ได้พิจารณาแบบร่างพระราชบัญญัติและ
ร่างพระราชกฤษฎีกาแล้ว มีความเห็นแต่ละกรณี ดังนี้
  
                   กรณีร่างพระราชบัญญัติ คณะกรรมการกฤษฎีกา (ครบคณะ) เห็นว่า “ในสมัยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เมื่อมีชื่อและระบุวันเดือนปีในรัชชกาลปัจจุบันแล้ว ก็มีข้อความต่อมาว่า “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า .........ฯลฯ............” แต่แบบสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นทรงลงพระปรมาภิไธยในตอนต้นอย่างหนึ่ง และมีพระบรมปรมาภิไธยเต็มในคำปรารภอีกอย่างหนึ่ง ทั้งต้องมีข้อความว่าได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศด้วย จึงให้เพิ่มความขึ้นอีกวรรคหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า” ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นแบบที่คล้ายคลึงกับที่ใช้ในรัชชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง แต่แก้ไขให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญยิ่งขึ้น อนึ่ง กรรมการร่างกฎหมายได้พิจารณาถึงคำ “พระบรมราชโองการ” ด้วย เพราะปรากฏว่าตามพระราชประเพณี พระมหากษัตริย์จะต้องผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาก่อนแล้วจึงจะใช้คำว่า “พระบรมราชโองการ” ได้ แต่เมื่อได้พิจารณาถึงรัฐธรรมนูญแล้ว กรรมการร่างกฎหมายคงมีความเห็นว่า ถึงอย่างไร ๆ ก็คงต้องใช้ว่า “มีพระบรมราชโองการ”อยู่นั่นเอง  นอกจากนี้ กรรมการร่างกฎหมายได้แก้ความ “โดยที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติว่า” เป็น “โดยที่เป็นการสมควร” ทั้งนี้เพราะควรจะเป็นคำปรารภของพระราชบัญญัติ กล่าวคือ เป็นเหตุผลในการออกกฎหมายซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนสำหรับผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้น มาตรา 57 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดให้รัฐมนตรีนายหนึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการได้ กรรมการจึงได้ว่างไว้เพราะเป็นเรื่องภายในของคณะรัฐมนตรีซึ่งจะมอบให้ใครเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการก็ได้”

                   กรณีร่างพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา (ครบคณะ) เห็นว่า “สำหรับพระราชกฤษฎีกานั้นมี 2 อย่าง คือ พระราชกฤษฎีกาซึ่งพระมหากษัตริย์ตราขึ้นและประกาศให้ใช้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและไม่ขัดกับกฎหมายอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กรรมการร่างกฎหมายจึงให้ระบุบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจลงไว้ด้วย ส่วนพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยบทบัญญัติของพระราชบัญญัติใดก็ให้ระบุบทบัญญัติของพระราชบัญญัตินั้น ๆ ลงไว้ให้ชัดเจนด้วย”

                   ทั้งนี้ แบบร่างพระราชบัญญัติและร่างพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว เป็นดังนี้

แบบพระราชบัญญัติ
ชื่อพระราชบัญญัติ
                  

.................(พระปรมาภิไธย)...............
ตราไว้ ณ วันที่ ...........................
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน
                   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควร (คำปรารภ) .....................................................
                   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา 2  ..........................................................................................
........................................

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกฤษฎีกา
ชื่อพระราชกฤษฎีกา
                  

.................(พระปรมาภิไธย)...............
ตราไว้ ณ วันที่ ...........................
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน

                   สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควร (คำปรารภ) .....................................................
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือ
มาตรา .. แห่งพระราชบัญญัติ .......................... จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา 2  ..........................................................................................
........................................

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

                   หลังจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ น. 1518/88 ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2488 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และแบบที่ผ่านร่างกฎหมายและร่างพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว ก็ถือเป็นแบบในการจัดทำร่างกฎหมายและร่างพระราชกฤษฎีกาของทุกกระทรวง ทบวง กรม

                   ต่อมา เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2489 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และภายหลังจากนั้นอีกหนึ่งเดือน คือ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคต รัฐสภาจึงมติเอกฉันท์อัญเชิญสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นทรงราชย์สืบสันตติวงศ์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2489 เป็นต้นไป และรัฐสภาได้ประกาศแต่งตั้งพระบรมวงศ์เธอกรมขุนชัยนาทนเรนทร และพระยามานวราชเสวี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้พิจารณาปรับปรุงแบบกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และได้เพิ่มแบบร่างพระราชกำหนดขึ้นด้วย

                   ทั้งนี้ แบบร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด และร่างพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นดังนี้

แบบพระราชบัญญัติ
ร่าง
พระราชบัญญัติ
..................................
พ.ศ. 24..
                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
....................................................
....................................................
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. 24..
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน

                    โดยที่เป็นการสมควร ..................................................................
.........................................
                   พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้
                   (ในกรณีที่พระราชบัญญัติออกตามมาตรา 52 วรรคท้าย ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้ใช้แบบนี้แทน
                   “พระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาตามมาตรา 52 วรรคท้ายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้”)

                   มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติ ................ พ.ศ. 24..”

                   มาตรา พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับ
                   แบบปรกติ  { ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                                 { เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   แบบด่วน     ตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................
  
แบบพระราชกำหนดออกตามมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญ

ร่าง
พระราชกำหนด
..................................
พ.ศ. 24..
                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
....................................................
....................................................
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. 24..
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน

                    โดยที่เป็นการสมควร ...........................................................
........... (ในคำปรารภให้แสดงสภาพแห่งเหตุฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไว้ด้วย) ........
                   พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 72 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

                   มาตรา 1  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนด ................ พ.ศ. 24..”

                   มาตรา พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับ
                   แบบปรกติ  { ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                                 { เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   แบบด่วน     ตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกำหนดออกตามมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญ

ร่าง
พระราชกำหนด
..................................
พ.ศ. 24..
                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
....................................................
....................................................
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. ..
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน

                    โดยที่เป็นการสมควร ....................................................................
.........................................
                   พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 73 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

                   มาตรา 1  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนด ................ พ.ศ. 24..”

                   มาตรา พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับ
                   แบบปรกติ  { ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                                 { เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   แบบด่วน     ตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                  มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกฤษฎีกา

ร่าง
พระราชกฤษฎีกา
..................................
พ.ศ. 24..
                  

ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
....................................................
....................................................
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. 24..
เป็นปีที่ .. ในรัชชกาลปัจจุบัน

                    โดยที่เป็นการสมควร ...............................................................
.........................................
                   พระมหากษัตริย์อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 78 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (และมาตรา .. แห่งพระราชบัญญัติ ...................... (ถ้ามี)) จึงมีพระบรมราชโองการให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดั่งต่อไปนี้

                   มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา ................ พ.ศ. 24..”

                   มาตรา พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับ
                   แบบปรกติ  { ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                                 { เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
                   แบบด่วน     ตั้งแต่วันและเวลาประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                มาตรา .. ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

                   ทั้งนี้ ในส่วนคำปรารภนั้นในแบบกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (ครบคณะ) ได้พิจารณาไว้เดิมใช้คำว่า “ตราไว้ ณ วันที่ ................. พุทธศักราช 24..” แต่ในชั้นนี้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขคำว่า “ตราไว้” เป็น “ให้ไว้” เพราะจุดประสงค์อยู่ที่ว่าได้ทรงลงพระปรมาภิไธยให้ไว้เมื่อใด และตามแบบสากลนิยมก็ไม่ใช้คำว่าลงพระปรมาภิไธย (Signed on) แต่ใช้คำว่า “ให้ไว้” (Given on) และจากเดิมที่ใช้คำว่า “พุทธศักราช” ได้แก้เป็น “พ.ศ. “ แทนเพราะเป็นตัวย่อที่ทราบกันโดยทั่วไปแล้ว

                   หลังจากนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ น. 709/2489 ลงวันที่ 9 สิงหาคม 2489 เสนอแบบร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด และร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวต่อกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และมีหนังสือ ที่ น.1140/2489 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2489 ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้แจ้งกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ เพื่อทราบ ซึ่งต่อมา กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ 8537/2489 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2489 แจ้งว่า ได้แจ้งให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ทราบเพื่อเป็นทางปฏิบัติและถือเป็นระเบียบเดียวกันแล้ว

                   ต่อมา ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2494 จึงได้มีการนำแบบร่างพระราชบัญญัติ ร่างพระราชกำหนด และร่างพระราชกฤษฎีกาที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อปี พ.ศ. 2488 มาปรับใช้อีกครั้งหนึ่ง โดยส่วนคำปรารภนั้นได้แก้คำว่า “ตราไว้” เป็น “ให้ไว้” ตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในปี 2489 ดังนี้

แบบพระราชบัญญัติ
ร่าง
พระราชบัญญัติ
………………………………………
พ.ศ. ....
                  

.................(พระปรมาภิไธย)...............
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. ....
เป็นปีที่ .. ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า


                   โดยที่เป็นการสมควร ................(คำปรารภ) ............................
                   จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้ โดยคำแนะนำและยินยอมของ ......................  ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติ ................ พ.ศ. ....”

                   มาตรา พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับ [ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป] [เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป]

                   มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกำหนด
ร่าง
พระราชกำหนด
..................................
พ.ศ. ....
                  

.................(พระปรมาภิไธย)...............
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. ....
เป็นปีที่ .. ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควร ................(คำปรารภ) ............................
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้  ดังต่อไปนี้


                   มาตรา 1  พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนด ................ พ.ศ. ....”

                   มาตรา พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

แบบพระราชกฤษฎีกา
ร่าง
พระราชกฤษฎีกา
..................................
พ.ศ. ....
                  

.................(พระปรมาภิไธย)...............
ให้ไว้ ณ วันที่ ........................... พ.ศ. ....
เป็นปีที่ .. ในรัชกาลปัจจุบัน

                   พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า
                   โดยที่เป็นการสมควร ................(คำปรารภ) ............................
                   อาศัยอำนาจตามความในมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย [ประกอบกับมาตรา .. และมาตรา .. แห่งพระราชบัญญัติ .................... พ.ศ. ....] จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้  ดังต่อไปนี้

                   มาตรา 1  พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกา ................ พ.ศ. ....”


                   มาตรา พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับ [ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป] [เมื่อพ้นกำหนด ... วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป]

                   มาตรา ..  ..........................................................................................
........................................

                   มาตรา ... ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ............... รักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
          .........................................

                   แบบกฎหมายดังกล่าวใช้มาเป็นเวลานาน จนกระทั่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มีผลใช้บังคับ ซึ่งมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติให้ต้องระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นไว้ด้วยอันเป็นเรื่องใหม่ในเวลานั้น กรณีจึงเกิดปัญหาว่าจะระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นไว้ที่ใด

                   ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. .... เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 และวันที่ 11 มีนาคม 2541 แล้วส่งวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป แต่สภาผู้แทนราษฎรมิได้เพิ่มบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 29 วรรคสอง ไว้ด้วย เมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาจึงมีผู้ทักท้วงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงแต่งตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เพื่อกำหนดแบบของบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวเพื่อชี้แจงต่อวุฒิสภาและเพื่อถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป

                   ในการนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) พิจารณาแล้วได้เสนอให้เพิ่มบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้แยกออกมาเป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหากหลังจากมาตรากำหนดวันใช้บังคับหรือมาตรายกเลิกกฎหมายเก่า แล้วแต่กรณี (ให้เป็นมาตรา 4) ดังนี้
                   กรณีจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเรื่องเดียว ให้ใช้ความว่า
                   “มาตรา 4  พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการ .................... ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
                   กรณีจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลหลายเรื่อง ให้ใช้ความว่า
                   “มาตรา 4  พระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายเกี่ยวกับการ .................... และการ .......................... ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”
  
                 สำหรับร่างพระราชกฤษฎีกา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้เสนอให้ใช้ความในบทอาศัยอำนาจ ดังต่อไปนี้
                   “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 4 และมาตรา .. แห่งพระราชบัญญัติ .............................. จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้”

                   หลังจากนั้น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีหนังสือ ที่ นร 0601/174 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2541 เสนอบันทึก เรื่อง การวางแบบกฎหมายให้สอดคล้องกับมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ต่อคณะรัฐมนตรี

                   ในเวลาเดียวกัน วุฒิสภาเห็นว่าการระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นสมควรเป็นส่วนหนึ่งของคำปรารภแทนที่จะแยกออกมาเป็นอีกมาตราหนึ่งต่างหาก เพราะมิใช่เนื้อหาของกฎหมาย คงเป็นแต่เพียงการระบุบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายฉบับนั้นเท่านั้น โดยคำปรารภที่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาใช้ถ้อยคำว่า
                   “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย .......... เพื่อเป็นการ .................. กับทั้งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการ ................. เพื่อ ....................... ประกอบกับมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยการตราเป็นพระราชบัญญัติ”

                   อย่างไรก็ดี เมื่อส่งกลับไปยังสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา จึงต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา ซึ่งคณะกรรมาธิการร่วมกันเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาแต่ได้ปรับปรุงถ้อยคำโดยล้อความมาจากมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฯ เป็นดังนี้
                  “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วย ..................... อันมีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ ................... และการจำกัดเสรีภาพใน ................... ซึ่งมาตรา .. และมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

                   ร่างที่แก้ไขของคณะกรรมาธิการร่วมกันนี้ได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับจึงถูกยับยั้งไว้ และเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ถูกยับยั้ง สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติยืนยันตามร่างเดิมที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแต่เพิ่มมาตรา 3 ทวิ ซึ่งภายหลังได้ปรับปรุงเลขมาตราเป็นมาตรา 4 ความว่า
                     “มาตรา .. พระราชบัญญัติฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพใน ..................... และการจำกัดเสรีภาพใน ............................. ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา .. และมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย”

                   เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากร่างพระราชบัญญัติที่สภาผู้แทนราษฎรมีมติยืนยันนั้นมีการเพิ่มมาตรา 3 ทวิ ซึ่งภายหลังได้ปรับปรุงเลขมาตราเป็นมาตรา 4 เข้าไปโดยไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 13-14/2541 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541 วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของนายประเสริฐ นาสกุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นที่มิได้เกี่ยวกับการวินิจฉัยคดีโดยตรง (Obiter dicta) ไว้อย่างน่าสนใจว่า
                   “การระบุแต่เพียงเลขมาตราของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลโดยไม่ต้องระบุรายละเอียดลงไป ย่อมสมบูรณ์และเหมาะสมกว่าการเลือกระบุการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลบางอย่างเท่าที่เห็นว่าจำเป็น เพราะถ้าระบุขาดไปจะเป็นผลทำให้พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด หรือพระราชกฤษฎีกานั้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญได้

                   ต่อมา รัฐสภาได้ร่วมกันพิจารณากำหนดบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพตามมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ โดยนำ Obiter dicta ของ นายประเสริฐ นาสกุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มาประกอบการพิจารณาด้วย และได้กำหนดให้เพิ่มวรรคสองของคำปรารภ ความว่า
                   “พระราชบัญญัติ [พระราชกำหนด] นี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา .. และมาตรา .. ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย”

                   เมื่อฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณากำหนดแบบของบทจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลจนเป็นที่ยุติแล้ว คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 เห็นชอบการกำหนดรูปแบบของร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล โดยให้ระบุบทบัญญัติที่ให้อำนาจในการตรากฎหมายนั้นไว้ในวรรคสองของคำปรารภเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบร่างพระราชบัญญัติซึ่งผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาแล้ว และให้กระทรวง ทบวง กรม ถือปฏิบัติในการเสนอร่างกฎหมายทำนองนี้ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ดังปรากฏรายละเอียดตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
ที่ นร 0204/ว 25 ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2542

                   ดังนั้น วรรคสองของคำปรารภจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของแบบกฎหมายที่มีบทบัญญัติอันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนับแต่นั้นเป็นต้นมา

                   นี่คือความเป็นมาของ “แบบกฎหมาย” (Formalities) ที่ใช้กันในปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนขอย้ำอีกครั้งว่าเป็นคนละเรื่องกับ “การใช้ถ้อยคำ” อันเป็น “วิธีการเขียน” (Style)


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

                   -เรื่องเสร็จที่ 136/2488
                   -เรื่องเสร็จที่ 86/2541
                   -เรื่องเสร็จที่ 554/2542
                   -เรื่องเสร็จที่ 278/2543
                   -คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 13-14/2541 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2541
                   -G.C. Thronton, Legislative Drafting (3rd Ed.), Butterworths, London, 1987.




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557)