วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

การริบทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้มาจากการกระทำความผิด

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   การกระทำความผิดอาญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และความต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์สินหรือประโยชน์ (Proceeds of crime) ที่ตนจะได้มาจากการกระทำความผิด

                   ในการกระทำความผิดอาญาเกี่ยวกับทรัพย์ ผู้กระทำความผิดมักมุ่งหมายให้ตนได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยตรง เช่น การลักทรัพย์ การปล้นทรัพย์ การยักยอกทรัพย์ การฉ้อโกง เป็นต้น เมื่อได้มาแล้วก็แปลกที่มักจะนำไปใช้จ่ายโดยตรงในทางวิบัติต่าง ๆ ไปดื่มสุรายาเมา ซื้อยาเสพติดมาเสพย์ เล่นการพนัน ใช้หนี้การพนัน ฯลฯ หากพอจะมีเหลือบ้างก็จะนำไปแปลงสภาพเป็นเงิน ทอง หรือทรัพย์สินอื่นแล้วมอบให้ญาติโกโหติกาหรือบริวารของตนยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้แทนตน

                   แต่การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดมักจะมุ่งหมายให้ตนได้รับ “ประโยชน์ตอบแทน” จากการกระทำหรือละเว้นกระทำการใด ๆ อันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน โดยประโยชน์ตอบแทนนี้มีทั้งประโยชน์ตอบแทนในรูปตัวเงินหรือทรัพย์สินอื่น และประโยชน์ตอบแทนที่มิใช่ตัวเงิน

                   สำหรับประโยชน์ตอบแทนที่เป็นตัวเงินนั้น เราคงพบเห็นกันอยู่เป็นประจำ จนหลายคนคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว เช่น การจ่ายเงินเพื่อหยอดน้ำมันให้การอนุมัติอนุญาตต่าง ๆ หรือเพื่อเป็นสินน้ำใจแก่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานรวดเร็วหรือให้ความอนุเคราะห์ในเรื่องต่าง ๆ การเรียกค่าปรับโดยไม่มีใบสั่งตามท้องถนน เป็นต้น  ส่วนประโยชน์ตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินมักแอบแฝงมาในรูปแบบอื่นที่มี “มูลค่า” ที่คลาสสิคมาก ๆ ในความเห็นของผู้เขียนและทำกันจนเป็นประเพณีปฏิบัติไปแล้ว คงไม่แคล้วการสะสมไมล์เดินทางของสายการบินเข้าบัญชีสะสมไมล์ของตัวเองทั้ง ๆ ที่เดินทางไปราชการและด้วยเงินงบประมาณของทางราชการ (แต่ไปถึงแล้วอาจไม่ได้เข้าประชุมหรือประชุมเดี๋ยวเดียว) บางคนสะสมไมล์ได้จำนวนมากจนสามารถใช้เลาจ์ VIP ของสายการบินได้ ที่สามารถแลกตั๋วฟรีไปเที่ยวต่างประเทศได้ก็มากมายอยู่ (ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่านี่เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้สายการบินแห่งชาติของเราขาดทุนด้วยหรือไม่)

                   ส่วนประโยชน์ตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินรูปแบบอื่นก็เช่นการที่คู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่เคยได้ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐมอบพระเครื่องหายากให้เป็นของขวัญแก่ผู้มีอำนาจหน้าที่อนุมัติโครงการหรือมีอำนาจสั่งซื้อสั่งจ้าง หรือการที่นิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจต่าง ๆ มอบหุ้นลมให้แก่นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง หรือแต่งตั้งนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงเป็นกรรมการหรือประธานกรรมการของนิติบุคคลนั้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายมีความเกรงใจหรือเพื่อ “เคลียร์” ข้อขัดข้องต่าง ๆ ให้แก่ตน

                   เคยมีคนพูดเข้าหูผู้เขียนว่าบางที่นั้นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐหรือผู้ที่เคยได้ทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐถึงกับ “เชิญ” หรือเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานหรือคณะกรรมการตรวจรับพัสดุพร้อมครอบครัวไป “ดูงาน” ต่างประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยกินอยู่ฟรี ซื้อของขวัญให้ รวมทั้งออกรอบตีกอล์ฟฟรีด้วย!!!!

                   ในทางกฎหมาย ไม่ว่าจะระบบกฎหมายใด ถือว่าบรรดาทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดโดยตรงหรือที่เรียกในทางเทคนิคว่า “ทรัพย์สินสกปรก” (Tainted property) นั้น หากยังมีตัวทรัพย์สินนั้นอยู่ ถือเป็นทรัพย์สินที่ต้องริบ (shall be confiscated) เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิด ตลอดจนญาติพี่น้อง และวงศ์วานว่านเครือของคนเหล่านี้แสวงหาประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านี้ได้

                   ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือถ้าผู้กระทำความผิดแปลงสภาพทรัพย์สินสกปรกนั้นไปเป็นแก้วแหวนเงินทอง เพชรพลอย หรือทรัพย์สินอื่นแล้วมอบให้ญาติโกโหติกาหรือบริวารของตนยึดถือทรัพย์สินนั้นไว้ก็ดี หรือผู้กระทำความผิดได้มาซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินและแอบแฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นก็ดี จะทำอย่างไร? หรือได้บริโภคประโยชน์ตอบแทนดังกล่าวไปแล้ว จะทำอย่างไร? เช่น เขาพาไปเที่ยวต่างประเทศมาแล้ว กินข้าวเขาไปแล้ว เป็นต้น

                   ในกรณีเช่นนี้นักกฎหมายทั่วโลกเห็นตรงกันว่าต้องริบทรัพย์สินของผู้กระทำความผิดและบุคคลที่เกี่ยวข้องตาม “มูลค่า” ของทรัพย์สินที่ได้มาแทนทรัพย์สินสกปรกหรือประโยชน์ที่ตนได้รับมาด้วย (Value-base confiscation) ซึ่งนอกจากจะเป็นไปเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดแล้ว ยังเป็นไปเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิด ตลอดจนญาติพี่น้อง และวงศ์วานว่านเครือของคนเหล่านี้สามารถเสพย์สุขจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบเหล่านี้ได้อีกต่อไป กล่าวคือ หากศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด กฎหมายให้อำนาจแก่ศาลที่จะพิพากษาให้จำเลยชำระเงินตามมูลค่าที่เท่ากับมูลค่าของทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบเหล่านี้หากว่าไม่มีตัวทรัพย์สินหรือประโยชน์นั้นอยู่ในขณะที่ศาลมีคำพิพากษาให้ริบ

                   สำหรับกฎหมายไทยนั้น มาตรา 18 (5) แห่งประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่าการริบทรัพย์สินเป็นโทษทางอาญา ซึ่งมาตรา 33 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยการกระทำความผิดด้วย ทั้งนี้ เพื่อมิให้ผู้กระทำความผิด ญาติบริวาร และวงศ์วานว่านเครือของผู้กระทำความผิดได้รับประโยชน์ใด ๆ จากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด และแม้กฎหมายบัญญัติให้ริบ “ทรัพย์สิน” อันมีความหมายครอบคลุมทั้งทรัพย์ที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง แต่โดยที่มาตรา 35 บัญญัติว่าทรัพย์สินซึ่งศาลพิพากษาให้ริบให้ตกเป็นของแผ่นดิน และต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1587/2505 และคำพิพากษาฎีกาที่ 804/2520 วางบรรทัดฐานไว้ว่า การริบทรัพย์สินนั้น ทรัพย์สินที่จะริบต้องมีตัวอยู่ ไม่ว่าจะยึดเอามาเป็นของกลางแล้วหรืออยู่อื่น ถ้าทรัพย์สินที่จะริบนั้นไม่มีตัว เช่นถูกทำลายหรือสูญหายไปจะสั่งริบไม่ได้ เพราะไม่อาจตกเป็นของแผ่นดินได้  ดังนั้น กรณีจึงมีช่องว่างที่ทำให้ศาลไม่มีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิดซุกซ่อนหรือยักย้ายถ่ายเทไปแล้วได้ ยิ่งเป็นประโยชน์ตอบแทนที่ไม่ใช่ตัวเงินและแอบแฝงมาในรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นก็ยิ่งแล้วใหญ่เนื่องจากไม่มีตัวทรัพย์เหลือให้ริบ ช่องว่างนี้จึงทำให้ผู้กระทำความผิด ญาติพี่น้อง และเครือข่ายของผู้กระทำความผิดยังคงได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือประโยชน์ตอบแทนอื่น รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ ที่ได้มาแทนทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำความผิดนั้นอยู่ต่อไป

                   ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อผู้กระทำความผิดได้มาซึ่งทรัพย์สินสกปรกจึงมักจัดแจงยักย้ายถ่ายเทหรือแปลงสภาพทรัพย์สินสกปรกนั้นเป็นลำดับแรกเพื่อมิให้มีการริบได้ อันทำให้ญาติพี่น้องและวงศ์วานว่านเครือของตนยังคงได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินสกปรกหรือทรัพย์สินที่ได้มาแทนทรัพย์สินสกปรกนั้น หรือกรณีการกระทำความผิดที่ผู้กระทำความผิด ตลอดจนญาติพี่น้องและวงศ์วานว่านเครือของผู้กระทำความผิดได้บริโภคประโยชน์ตอบแทนที่มิใช่ตัวเงินไปแล้ว ก็ไม่สามารถลงโทษบุคคลเหล่านี้โดยการริบทรัพย์สินได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญาที่ไม่ต้องการให้ผู้กระทำความผิด ญาติพี่น้อง และวงศ์วานว่านเครือของคนเหล่านี้เสพย์สุขจากทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ได้มาโดยมิชอบเหล่านี้ได้อีกต่อไป

                   ในปี 2552 รัฐบาลในขณะนั้นได้มีหนังสือที่ นร 0503/4582 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2552 เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การริบทรัพย์สินและเพิ่มวิธีริบทรัพย์สินตามมูลค่า) ต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้บรรดาที่บุคคลใดได้มาจากการกระทำความผิด และที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์ดังกล่าว โดยหากทรัพย์สินหรือประโยชน์ที่ต้องริบนั้นเป็นสิ่งที่โดยสภาพไม่สามารถส่งมอบได้ สูญหาย หรือไม่สามารถติดตามเอาคืนได้ไม่ว่าด้วยเพตุใด หรือได้มีการนำสิ่งนั้นไปรวมเข้ากับทรัพย์สินอื่น หรือได้มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้นให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดไปแล้วโดยไม่ได้ทรัพย์สินอื่นใดมาแทน หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้มาแทนนั้นต่ำกว่าราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่มีการจำหน่าย จ่าย โอนสิ่งนั้น ศาลอาจกำหนดมูลค่าของสิ่งนั้นโดยคำนึงถึงราคาท้องตลาดของสิ่งนั้นในวันที่ศาลมีคำพิพากษาและสั่งให้ผู้ที่ศาลสั่งให้ส่งสิ่งที่ริบชำระเงินตามมูลค่าดังกล่าวภายในเวลาที่ศาลกำหนด

                   น่าเสียดายนัก หลังจากรัฐบาลได้เสนอร่างพระราชบัญญัตินี้ต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้วก็มีการยุบสภาและทำให้ร่างกฎหมายนี้ตกไป

                   เชื่อไหมว่าร่างกฎหมายดี ๆ มักมีจุดจบที่น่าอนาถเช่นนี้เสมอ.





[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการส่วนบุคคลของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น